“สุวิทย์” ชูนวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย 100% นำนวัตกรรมต่อยอดผลผลิตการเกษตร ตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 9, 2019 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--แบงค์คอก ไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส "สุวิทย์" ขานรับนโยบายรัฐบาล งดใช้ถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค. 2563 นี้ ผนึกภาคเอกชน-SMEs ไทย สร้างนวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย 100% จากแป้งมันสำปะหลัง ปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกไทย ตอกย้ำแนวคิดนำนวัตกรรมต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร ตอบโจทย์ BCG Economy อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี: นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมกระบวนการพัฒนาผลิตพลาสติกชีวภาพ ด้วยการนำแป้งมันมาพัฒนาเป็นพลาสติก ณ โรงงาน บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ร่วมวิจัยและพัฒนา "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร"กับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. โดยมีบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากการที่ ครม. มีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 กระทรวง อว. จึงขานรับนโยบายในการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการวิจัยและพัฒนา "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร" ผลงานวิจัยของ เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปลี่ยนมันสำปะหลังโดยพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิต "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร" สามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 - 4 เดือน ซึ่งได้นำร่องใช้งานจริงแล้วในงานกาชาด ประจำปี 2562 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นวัตกรรมดังกล่าววิจัยและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยและภาคเอกชนของไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฎิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย ทั้งนี้ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหาร นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์ BCG Economy ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือการประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ SMEs ไทย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัญหาของ "ขยะพลาสติก" ทั้งบนบกและในทะเล เป็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุ มาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ซึ่งมีอัตราส่วนมากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด และจากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการจัดการขยะมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมและขนส่งขยะ เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้และขยะอื่นๆ สวทช. โดย เอ็มเทค จึงได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคอมพาวด์ย่อยสลายและถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร โดยนำแป้งมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ตอบโจทย์ BCG เพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและยกระดับรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีกล่าวให้กับภาคเอกชนต่อไป นายเขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMS Corporation) เปิดเผยว่า จุดเริ่มโครงการนี้มาจากความร่วมมือทางด้านงานวิจัยระหว่าง บ.เอสเอ็มเอส และ เอ็มเทค สวทช. และขยายผลให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในระดับอุตสาหกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรมฯ ในการเป่าขึ้นรูปถุง ทำให้ประชาชนผู้ใช้มั่นใจได้ว่าถุงขยะสำหรับใส่ขยะเศษอาหารที่มีส่วนผสมของ TAPIOPLAST สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่เหลือสิ่งตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จนเกิดเป็นนวัตกรรมต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้มีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญ คือ ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นบริษัทจึงได้คิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง โดยถุงสำหรับใส่ขยะเศษอาหารนี้มีส่วนผสมของไบโอพลาสติกนี้มีชื่อว่า TAPIOPLASTสามารถทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ย่อยลายทางชีวภาพหลากหลายชนิด รวมถึงถุงเพาะชำกล้าไม้ เป็นต้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และราคาลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ขยายการใช้ในวงกว้างประกอบกับการจัดการขยะที่ถูกวิธี อย่างไรก็ดีเมื่อทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดัน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชนและเกษตรกรเพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ ความต้องการของประเทศสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับชาติ ทำให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เกิดความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จึงเป็นการปฏิบัติใช้หลักการเศรษฐกิจแบบ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ดังที่ท่านรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญ ด้าน นางสาวนฤศสัย มหฐิติรัฐ กรรมการบริหาร บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บ.ทานตะวันฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด "ทานตะวันเพื่อทุกชีวิตที่ยั่งยืน" ด้วยหลัก 6R คือ Re-Thinking, Re-Designing, Re-Duce Material, Re-Process, Re-Energy และ Re-Covering เช่น ตั้งเป้านำพลาสติกที่เหลือจากขบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% และริเริ่มผลักดันผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตดังกล่าวมาต่อยอดทางธุรกิจ ในส่วนของ Bio และ Green Economy บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัตถุดิบที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น อ้อย และข้าวโพด มาใช้ผลิตสินค้าประเภท Bio Plastic ซึ่งรวมถึงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า Compostable Plastic เช่น หลอด ถุงขยะ ถุงซิป ภายใต้เครื่องหมายการค้า"SUNBIO" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในการสนับสนุนหรือต่อยอดงานวิจัยไทย บริษัทฯ ร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายโครงการ และบริษัทฯ ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยจาก เอ็มเทค สวทช. พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าถุงยืดอายุผักและผลไม้ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "Fresh & Fresh" ที่คิดค้นด้วยเทคโนโลยี MAP คือบรรจุภัณฑ์ที่มีการควบคุมระดับการเข้าออกของก๊าซภายในถุง ให้อยู่ในสภาพดัดแปลงบรรยากาศแบบสมดุล (EMA) เรียกได้ว่าเป็น "ถุงหายใจได้" มีคุณสมบัติทำให้ผักและผลไม้มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่าถุงทั่วไป ยืดอายุความสดใหม่ของผักและผลไม้ อย่างไรก็ดีความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้น ในฐานะภาคเอกชน อยากให้ภาครัฐส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับภาคเอกชน ห้างร้านใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastic) ซึ่งย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ และได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำย่อยสลายในระยะเวลาที่กำหนด(ประมาณ180วัน) ตามมาตรฐาน ซึ่งแตกต่างกับพลาสติกอ๊อกโซ (OXO Plastic) ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกตัวไปสู่ขั้นไมโครพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นอกจากนั้นแล้วอยากให้ภาครัฐกำหนดมาตรการจัดการขยะพลาสติกให้ชัดเจนถูกวิธีและเหมาะสม ตั้งแต่ข้อกำหนด การคัดแยก การจัดการ และการกำจัด "ทั้งนี้ บ.ทานตะวันฯ ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์ส่งเสริมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อให้สังคมของเราจัดการปัญหาพลาสติกได้อย่างยั่งยืน และอยาก ย้ำเตือนว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย พลาสติกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เมื่อเรานำมาใช้ซ้ำ และมีการจัดการอย่างถูกวิธีและเหมาะสม" นางสาวนฤศสัย กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ