กฟผ. จัดกิจกรรมค่ายปัจฉิมนิเทศ โครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม (ค่ายเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.) รุ่นที่ 11 คัดเลือกสุดยอดค่ายอาสาพัฒนาเจาะลึกชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday December 13, 2019 17:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--กฟผ. กฟผ. จัดกิจกรรมค่ายปัจฉิมนิเทศ โครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม (ค่ายเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.) รุ่นที่ 11 คัดเลือกสุดยอดค่ายอาสาพัฒนาเจาะลึกชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคม (ค่ายเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.) เกิดจากแนวคิดที่ กฟผ. ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศชาติ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ดำเนินการในรูปแบบค่ายเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นจิตอาสา ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดให้กับชุมชน พร้อมทั้งปลูกฝังการเป็นผู้นำที่เสียสละและมีจิตสาธารณะ โดย กฟผ. ได้ประกาศเชิญชวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้เสนอโครงการค่ายอาสาพัฒนา เพื่อขอรับทุนสนับสนุนการดำเนินงานค่ายอาสาพัฒนา โครงการนี้มีนักศึกษาจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 37 กลุ่ม ผ่านการคัดเลือก 10 กลุ่ม จาก 10 สถาบัน ได้รับทุนสนับสนุนจาก กฟผ. กลุ่มละไม่เกินหนึ่งแสนบาท จากนั้น กฟผ. ได้นำนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 กลุ่มเข้าค่ายปฐมนิเทศเพื่อเตรียมความพร้อมและติดอาวุธทางปัญญา เสริมสร้างทักษะเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งได้เชิญวิทยากรหลักสูตรจิตอาสา 904 "หลักสูตรประจำ" รุ่นที่ 3/62 "เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์" มาบรรยายเรื่องสถาบันพระมหากษัติริย์กับประเทศไทย และโครงการจิตอาสาพระราชทาน นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำกิจกรรม CSR ปลูกป่า กับ กฟผ. ณ เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 – 21 มิถุนายน 2562 โดยในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2562 นักศึกษาทั้ง 10 สถาบัน ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจบริบทชุมชนและสภาพภูมิประเทศ และพบปะกับชุมชนเพื่อสำรวจความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และดำเนินการออกค่ายอาสาพัฒนา ได้แก่ "โครงการมดอาสาพัฒนาชุมชน ตามรอยศาสตร์พระราชา" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี "โครงการวิศวะอาสา นำพานวัตกรรม น้อมนำปรัชญา พัฒนาชุมชน" มหาวิทยาลัยนครพนม "โครงการจิตอาสาพัฒนาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิถีเกษตรธรรมชาติ ชุมชนศิริราษฎร์ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย" มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย "โครงการพลิกฟื้น คืนน้ำคืนดิน ทำมาหากินตามวิถีพอเพียง" มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี "โครงการครูบ้านนอกสร้างสรรค์ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 8 ตอน บัณฑิตจิตอาสาสานต่อพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง" มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง "โครงการค่ายราชภัฏร่วมใจอาสาพัฒนาท้องถิ่น ปี 9 ตอน สหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียง" มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ "โครงการสร้างสรรค์สังคมกับคนหลังเลนส์" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา "โครงการ zero waste จะบังติกอ" มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "โครงการค่ายจิตอาสา กฟผ. เพื่อน้อง" มหาวิทยาลัยสยาม และ "โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม สื่อและหนังสือนิทานจากพี่สู่น้องปฐมวัย" วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู หลังจากที่นักศึกษาทุกกลุ่มลงพื้นที่ออกค่ายอาสาพัฒนาแล้ว กฟผ. ได้จัดกิจกรรมค่ายปัจฉิมนิเทศเพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงาน พร้อมทั้งคัดเลือกสุดยอดค่ายอาสาพัฒนาเจาะลึกชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาตัดสินจากการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนใน 4 ด้าน คือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ การมีส่วนร่วมในการรับประโยชน์ และการมีส่วนร่วมในการประเมินผล โดยรางวัลสุดยอดค่ายอาสาพัฒนามี 3 รางวัล ได้แก่ ค่ายดีเลิศ ค่ายดีเยี่ยม และค่ายดีเด่น นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยประเภทค่ายโดดเด่นอีก 2 รางวัล รวมทั้งสิ้น 5 รางวัล โดยมีโครงการที่ได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้ 1. รางวัลค่ายดีเลิศ ได้รับเงินรางวัลเงินสดจำนวน 15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร และของที่ระลึกจาก กฟผ. ได้แก่ "โครงการวิศวะอาสา นำพานวัตกรรม น้อมนำปรัชญา พัฒนาชุมชน" ณ ชุมชนบ้านนาโดนใหม่ ต.โคกหินแห่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม โดยวิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งคิดค้นนวัตกรรมเครื่องปั่นด้ายประหยัดพลังงาน เตาเผาถ่านไบโอชา เตานึ่งข้าวพลังเทอร์โบ การขยายจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และทำการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบหมู่บ้าน 2. รางวัลค่ายดีเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลเงินสดจำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร และของที่ระลึกจาก กฟผ. ได้แก่ "โครงการมดอาสาพัฒนาชุมชน ตามรอยศาสตร์พระราชา" ณ ชุมชนตะโกปิดทอง และโรงเรียนตำรวจตระเวรชายแดนตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งคิดค้นและต่อยอดเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์โดยเพิ่มพัดลมเพื่อดูดความชื้นออกจากวัตถุดิบ รวมทั้งติดตั้งแผงโซล่าเซลและเดินสายไฟฟ้าในชุมชนจำนวน 25 ครัวเรือนและโรงเรียน พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้กับชุมชนในเรื่องการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุง 3. รางวัลค่ายดีเด่น ได้รับเงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุ เกียรติบัตร และของที่ระลึกจาก กฟผ. ได้แก่ "โครงการพลิกฟื้น คืนน้ำคืนดิน ทำมาหากินตามวิถีพอเพียง" ณ บ้านตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทรบุรี โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้สร้างประตูกั้นน้ำเค็ม ทำแปลงนาสาธิต แปลงเพาะเห็ด และแผนที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน 4. รางวัลชมเชย ประเภทค่ายโดดเด่น 2 รางวัล ได้รับเกียรติบัตรและของที่ระลึกจาก กฟผ. ได้แก่ 1. "โครงการค่ายราชภัฏร่วมใจอาสาพัฒนาท้องถิ่น ปี 9 ตอน สหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียง" ณ โรงเรียนบ้านเค็ง อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้สร้างโรงผลิตน้ำดื่มตามมาตรฐาน อ.ย. ซ่อมแซมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และปรับปรุงภูมิทัศภายในโรงเรียน 2. "โครงการครูบ้านนอกสร้างสรรค์ค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ 8 ตอน บัณฑิตจิตอาสาสานต่อพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง" ณ โรงเรียนบ้านห้วยปิง อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้สร้างฝายชะลอน้ำให้กับชุมชน จัดทำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จัดทำสื่อการเรียนการสอน การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) จัดทำแปลงปลูกผักอินทรีย์และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน นอกจากนี้ กฟผ. ได้นำนักศึกษาทำกิจกรรม CSR ร่วมกับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเจ้าเณร และผู้นำชุมชน สร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 3 ฝาย ณ เส้นทางที่ 5 ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สธ.) และศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2562 "กฟผ. ดำเนินโครงการ กฟผ. เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาพัฒนาสังคมมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีภาวะผู้นำ กล้าคิดกล้าทำอย่างสร้างสรรค์ สามารถเป็นอนาคตของชาติที่จะสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ที่ผ่านมามีเยาวชนเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 3,000 คน สามารถจัดทำโครงการที่ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมในด้านต่างๆ ไปแล้วกว่า 150 โครงการ อาทิ การพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การนำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพัฒนาชุมชน โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเรียนของเยาวชนในชนบทที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างแท้จริง" นายยงยุทธ ศรีชัย กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ