จุฬาฯ ร่วมส่งมอบกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ข่าวทั่วไป Monday December 30, 2019 08:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานวิจัยแห่งชาติ จัดโครงการกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยมี พล.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 เป็นประธานในพิธีมอบนวัตกรรมกายอุปกรณ์ ได้แก่ เบ้าอ่อนขาเทียมแบบถุงซิลิโคน (Low Cost Local Made Silicone Liner) และเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส S-Pace ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้กับโรงพยาบาล 9 แห่งและผู้พิการ 69 คน เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562 ณ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กายอุปกรณ์เท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส S-Pace ออกแบบโดย ผศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะทีมงานศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกายอุปกรณ์และสิ่งปลูกฝังทางออร์โธปิดิกส์ (Center of Excellence for Prosthetic and Orthopedic Implant) ซึ่งอุปกรณ์เท้าเทียมที่ได้พัฒนาขึ้นนั้นมีจังหวะการก้าวเหมือนเท้าจริง ช่วยในการทรงตัว 360 องศา สามารถตะแคงเท้าไปทางซ้ายหรือขวา ด้านหน้า-ด้านหลังได้ แกนกลางเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุตัวเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องบิน ผ่านการทดสอบความแข็งแรงตามแนวทางมาตรฐานสากล ISO 10328 จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วธ. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในการขยายผลนวัตกรรมกายอุปกรณ์ขาเทียมที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย คุณภาพสูงเทียบเท่าสากล สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ลดต้นทุนการนำเข้า ลดภาระค่าใช้จ่าย ช่วยอำนวยความสะดวกในการสวมใส่ และลดการเสียดสีระหว่างผู้สวมกับอุปกรณ์ มีความทนทานแข็งแรง มีน้ำหนักเบา และเหมาะกับสรีระของผู้พิการแต่ละราย ทำให้ผู้ป่วยและผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิในการนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและประเทศชาติ นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า กายอุปกรณ์นี้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพระดับโลก มีความคงทน สามารถใช้ได้นานหลายปี หลังจากที่ได้รับมอบกายอุปกรณ์ขาเทียม ทางโรงพยาบาลจะนำไปใช้จริงกับผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยที่กำลังรอการรักษาอยู่ในขณะนี้ พิศิษฐ์ อิ่มประเสร็จ ผู้สาธิตการทดสอบนวัตกรรมกายอุปกรณ์ขาเทียมตัวใหม่ กล่าวว่า ขาเทียมนี้เป็นแรงจุดประกายให้อยากจะวิ่งอีกครั้ง ดีใจมากที่องค์กรต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐหันมาให้ความสนใจผู้พิการ สำหรับผู้พิการที่มีบัตรคนพิการที่ต้องการจะเปลี่ยนมาใช้ขาเทียมที่พัฒนาขึ้นจากฝีมือคนไทย สามารถใช้สิทธิและขอรับคำปรึกษาในการใช้กายอุปกรณ์ได้จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ