ปรับภูมิทัศน์ที่พักอาศัยลดผลกระทบสุขภาพ - ตรวจสอบสภาพอาคาร

ข่าวทั่วไป Monday January 13, 2020 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวตามที่คอลัมนิสต์นำเสนอบทความ โดยระบุพบประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคตึกเป็นพิษ (Sick building syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย อีกทั้งพื้นที่แนวดิ่งในอาคารสูง ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้คนในเมืองเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภท ออฟฟิศซินโดรม และกลุ่มโรคกับมลภาวะต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมลดมลพิษ ดูแลความสะอาดปรับภูมิทัศน์ในที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกันได้แจ้งข้อมูลผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แผ่นพับ โปสเตอร์ และแอปพลิเคชัน นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย. ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบอาคารห้างสรรพสินค้าเป็นประจำทุกปี โดยตรวจสอบการทำงานของระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศของอาคาร พร้อมตรวจสอบสภาพอาคารด้วยสายตา (visual inspection) ในเบื้องต้น หากพบความผิดปกติจะแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบสภาพอาคาร เพื่อแก้ไขความผิดปกติ ขณะเดียวกันได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าตรวจสอบโรงมหรสพที่ทำการต่ออายุใบอนุญาตใช้สถานที่ เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพเป็นประจำปีทุกปี โดยกำชับให้โรงมหรสพปฏิบัติตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคาร เพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ ประเภทและระบบความปลอดภัยของโรงมหรสพ และอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ พ.ศ.2550 นอกจากนั้น ในส่วนของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงมหรสพ อาคารชุมนุมคน โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป อาคารชุดอยู่อาศัยหรืออาคารอยู่อาศัย รวมที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ที่เข้าข่ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือด้านสถาปัตยกรรมแล้วแต่กรณี ผู้ตรวจสอบอาคารจะต้องเป็นผู้ที่ได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารกับกรมโยธาธิการและผังเมือง แล้วรายงานผลการตรวจสอบอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่ง สนย. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากตรวจสอบพบอาคารใดเข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารแล้วไม่ส่งรายงานการตรวจสอบอาคาร จะแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ