‘รัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า’ ปรับโฉมเป็น GSPA NIDA ชู Cutting-Edge Management ลับความคิดผู้บริหารรัฐและเอกชน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 5, 2008 14:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ปรับโฉมใหม่ทั้งแนวคิด ตราสัญลักษณ์ และคณะผู้บริหาร เพื่อรับมือกับการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัฒน์ มุ่งพัฒนาบุคลากรระดับจัดการภาครัฐ เอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ภายใต้แนวคิด Cutting-Edge Management หรือลับความคิดให้แหลมคมด้านบริหารจัดการ ชี้ผู้บริหารภาครัฐ-เอกชนต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน
ผศ.ปกรณ์ ปรียากร คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (Graduate School of Public Administration : GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA เปิดเผยว่า เนื่องจากการบริหารจัดการภาครัฐกับภาคเอกชนในปัจจุบันนี้มีความท้าทายอย่างมาก ต้องใช้ศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อรองรับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งแนวคิดในการบริหารภาครัฐกับเอกชนก็ไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นผลให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
“คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เป็นผู้นำในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์การจัดการภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ต้องการให้สังคมเห็นว่าเราเองก็มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ ทั้งตราสัญลักษณ์หรือ Logo ของคณะ และใช้สโลแกนใหม่ว่า Cutting-Edge Management ซึ่งหมายถึงการลับความคิดให้แหลมคมอยู่เสมอในด้านการบริหารและการจัดการ”
คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวขยายความว่า แนวคิด Cutting-Edge Management เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ ไม่ว่าจะในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน เพราะการบริหารจัดการในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถยึดติดกับการบริหารจัดการแบบเดิม ๆ ได้ ซึ่งในหลักสูตรของคณะรัฐประศาสนศาสตร์นั้นมีความเด่นชัดในเรื่องที่ทำให้ภาคเอกชนเข้าใจการทำงานของราชการ รวมทั้งภาคราชการ และรัฐวิสาหกิจก็เข้าใจภาคเอกชนมากขึ้นด้วย เพราะต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
“แนวทางการทำงานของภาครัฐแนวใหม่หรืองานภาคเอกชนแนวใหม่ มาถึงจุดที่ไม่มีขอบเขต หรือขอบกั้นระหว่างกัน นักบริหารภาครัฐที่ทำงานโดยตรงในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าไม่รู้เรื่องการจัดการภาคเอกชน ก็คงไม่สามารถจัดเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดีได้ ในทางกลับกันหน่วยงานภาคเอกชนก็ต้องทำให้กิจการของตนเองมีคุณค่าต่อสังคมด้วย” ผศ.ปกรณ์กล่าว และกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐและเอกชนต้องเชื่อมโยงกัน เรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในส่วนของยุทธศาสตร์ การคืนกำไรให้สังคม การวางแผน การจัดโครงการ การใช้ภาวะผู้นำ การวิเคราะห์การเงินงบประมาณ ตลอดจนเรื่องของการประเมินผล กำกับดูแลกิจการ องค์ความรู้ต่างๆที่กล่าวนี้กลายเป็นองค์ความรู้กลางที่ใช้ร่วมกันได้ เพียงแต่ว่าจะไปประยุกต์ใช้กับคุณลักษณะเฉพาะขององค์กรทั้ง 2 ประเภทตามสถานการณ์ ในขณะเดียวกันการจัดการเรียนการสอนนั้นจะต้องอุดช่องว่างในส่วนที่ขาด คือภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่ทำงานเกี่ยวพันกับกิจการภาครัฐ
ส่วนที่มีการเปลี่ยนโลโก้ก็เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น โดยสีเขียวหมายถึง ความทันสมัย ความเป็นสากล ความเพียบพร้อม ตลอดจนความมีศักยภาพทางด้านวิชาการ สีทองหมายถึง ความเก่าแก่ ความน่าเชื่อถือ ความมีคุณธรรม จริยธรรม ความมั่นคงและความเชี่ยวชาญ และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า GSPA ซึ่งย่อมาจาก Graduate School of Public Administration นอกจากนี้ ทาง GSPA ยังได้ตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ผศ.ปกรณ์ ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดเวลาที่เปิดสอนมากว่า 50 ปีว่า สิ่งที่วัดได้เป็นรูปธรรมก็คือ มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ที่จบออกไปแล้วเป็นผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนขนาดใหญ่ มีจำนวนมากมาย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 76 จังหวัด จบจาก GSPA นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความคิดริเริ่มใหม่ๆ การผสานความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรต่างๆ ผลงานวิจัยในเชิงประยุกต์สำหรับการบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจ เป็นต้น
อนึ่ง คณะรัฐประศาสนศาสตร์ จัดตั้งขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อว่า “คณะรัฐประศาสนศาสตร์” เมื่อปี 2498 โดยปัจจุบันมีอายุกว่า 53 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายในการตอบสนองความต้องการของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น เพื่อนำไปผลักดันบุคลากรในการรองรับการบริหารพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรกที่เริ่มใช้ในปี 2504 การจัดตั้งในครั้งนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างๆในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยอินเดียนนา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เป็นต้น โดยทำหน้าที่เป็น หน่วยงานช่วยเหลือทางด้านวิชาการของสหรัฐอเมริกา
ต่อมาผลการดำเนินงานชี้ให้เห็นว่า คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสำเร็จในการพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะในภาครัฐ ในช่วงนั้นก็มีพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้จัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า (National Institute of Development Administration) ขึ้นในปี 2509 รัฐบาลในเวลานั้นได้โอนกิจการของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ มาไว้ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และก็มีการจัดตั้งคณะอื่นๆ อีก เช่น คณะบริหารธุรกิจ พัฒนาเศรษฐกิจและเศรษฐกิจประยุกต์ โดยคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ