วศ. หารือแนวทางใช้ห้องปฏิบัติการด้านยาง เป็นต้นแบบพัฒนาหน่วยทดสอบหมอนและที่นอนยางพารา

ข่าวทั่วไป Friday January 31, 2020 13:33 —ThaiPR.net

วศ. หารือแนวทางใช้ห้องปฏิบัติการด้านยาง เป็นต้นแบบพัฒนาหน่วยทดสอบหมอนและที่นอนยางพารา กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ วันที่ 30 มกราคม 2563 ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) ให้การต้อนรับ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ และนายพายับ นามประเสริฐ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโอกาสหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาหน่วยทดสอบหมอนและที่นอนฟองน้ำจากยางพารา โดยมีแนวทางการใช้ห้องปฏิบัติการด้านยาง ของ วศ. เป็นต้นแบบพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนจากยางธรรมชาติให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตหมอนและที่นอนจากยางพาราของประเทศไทย ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริกการ หมอนและที่นอนยางพาราเป็นสินค้าที่ได้รับนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยได้เป็นอย่างมาก ห้องปฏิบัติการทดสอบถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง กองวัสดุวิศวกรรม เป็นหน่วยงานที่บุกเบิกพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอนและที่นอนจากยางพารา และเป็นห้องปฏิบัติการเดียวในประเทศที่สามารถทดสอบได้ครบทุกรายการตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2471-2559 และ มอก. 2477-2559 ซึ่งเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์บริการได้ทำข้อตกลงร่วมมือกับ 16 มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ที่กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบของไทยให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการใช้บริการทดสอบจากภาคอุตสาหกรรม ในการนี้ ดร.อรวรรณ ปิ่นประยูร หัวหน้ากลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง และคณะ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคที่สำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานและเครื่องมือการทดสอบฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอนและที่นอนจากยางพาราตามมาตรฐาน มอก. 2471-2559 และ มอก. 2477-2559 และพาเยี่ยมชมการห้องปฏิบัติการทดสอบฟองน้ำลาเท็กซ์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการหารือร่วมกันในด้านงานวิจัยพัฒนายางพาราไทยในอุตสาหกรรมสำคัญอื่น อาทิ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง เป็นต้น เพื่อพัฒนางานวิจัยพัฒนาร่วมกันในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ