ผลกระทบลุกลามสู่ภาคการผลิตและภาคการเมืองของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ เสนอให้ลดดอกเบี้ยเหลือ 1%

ข่าวทั่วไป Monday February 3, 2020 09:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนากระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นจากยอดพุ่งกว่า 14,000 คนและมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น 304 คน ผ่านผลกระทบเริ่มลุกลามสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก ภาคส่งออก ภาคเกษตรกรรม ภาคการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นจากปัญหาดังกล่าว ค่อนข้างชัดเจนว่า ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเอเชียและไทยเท่านั้น สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการภัยสาธารณะฉุกเฉินกันใหม่ทั้งระบบ หากไม่ดำเนินการ ไทยจะเผชิญหน้าความท้าทายจากโรคระบาดอุบัติใหม่ ผลกระทบจากภัยสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นในการเผชิญภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก และอาจมีความจำเป็นมากขึ้นที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนาไวรัสได้ลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆนอกจากภาคการท่องเที่ยวและกลายเป็นประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก คาดการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนากระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นจากยอดพุ่งกว่า 14,000 คนและมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น 304 คน ผ่านผลกระทบเริ่มลุกลามสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก ภาคส่งออก ภาคเกษตรกรรม ภาคการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมีความซับซ้อนมากขึ้นจากปัญหาดังกล่าว ค่อนข้างชัดเจนว่า ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเอเชียและไทยเท่านั้น หลังจากมีการปิดเมือง ปิดโรงงาน ปิดสำนักงานของบริษัทต่างๆทั้งบริษัทจีนและบรรษัทข้ามชาติในจีนทำให้ส่ง ผลกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆที่มีฐานผลิตส่วนประกอบสำคัญในจีน เช่น การออกตัวไอโฟนรุ่นใหม่ต้องเลื่อนออกไปก่อน เป็นต้น การนำเข้าวัตถุดิบจากจีนชะงักงันทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในไทยบางส่วน หยุดผลิตชั่วคราว ทำให้เกิดการปิดงานในโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนเพิ่มขึ้น เช่น ล่าสุด มีการปิดโรงงานของบริษัทซีก้า นิว แมททีเรียลส์ (ประเทศไทย)จำกัด โดยไม่แจ้งพนักงงานทั้งหมดล่วงหน้า และคนงานยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อส่งออกในภาคเกษตรกรรมนั้น ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน มูลค่า ประมาณ 900,000 กว่าล้านบาท โดยสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 64,535 ล้านบาท 2. ยางพารา มูลค่า 50,131.29 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 42,300.67 ล้านบาท 4. ข้าว มูลค่า 9,336 ล้านบาทและ5. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 6,858 ล้านบาท ผลกระทบระยะสั้นต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนลดลง 1-2% กดราคาสินค้าเกษตรบางตัวในระยะ 2-3 เดือนปรับตัวลดลง ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทย แต่ทำให้การค้าออนไลน์และธุรกิจจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก การปิดพรมแดนไม่ให้คนจีนเดินทางเข้าออกประเทศของบางประเทศ การยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกจีนของสายการบินต่างๆของบางประเทศเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิทธิในการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เข้ามาในประเทศ แต่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์และเป็นประเด็นอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีของไทยนอกจากการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศจีนเข้าไทยแล้วในเบื้องต้น ต้องให้ชาวจีนที่เดินทางจากประเทศจีนต้องขอวีซ่าในช่วงนี้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้อำนาจต่อรัฐไทยในการพิจารณาว่าจะให้เข้าประเทศหรือไม่ ส่วนการปิดพรมแดนหรือการยกเลิกเที่ยวบินเข้าออกจีนนั้นเช่นบางประเทศนั้นควรหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปหาก สถานการณ์แพร่ระบาดลุกลาม การประกาศให้ "การแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่โคโรนา" เป็นภาวะฉุกเฉินของโลก ช่วยทำให้การจัดการการแพร่ระบาดระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นขณะนี้ การปิดเมืองอาจก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าจำเป็นเนื่องจากกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้า สร้างความไม่พอใจของประชาชนจีนต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่มขึ้น เกิดการตั้งคำถามต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพิ่มขึ้นความไม่พอใจดังกล่าวของประชาชนอาจนำมาสู่ภาวะความตึงเครียดทางการเมืองในจีนได้ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการภัยสาธารณะฉุกเฉินกันใหม่ทั้งระบบ หากไม่ดำเนินการไทยจะเผชิญหน้าความท้าทายจากโรคระบาดอุบัติใหม่ ผลกระทบจากภัยสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากนักไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นในการเผชิญภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรก และอาจมีความจำเป็นมากขึ้นที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ในการประชุมสัปดาห์นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ