กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--IANDI COMUNICATION
เสียงที่ดังมาเป็นจังหวะ ท่ามกลางลมหนาวที่โชยมาเป็นระยะๆ แม้จะมีแดดจ้าในยามบ่ายของสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เด็กเล็ก 3-4 คน ที่วิ่งเล่นอยู่ในลานวัดป่าธรรมนิเทศก์วราราม หมู่ 9 ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ หยุดเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ พร้อมทั้งตะโกนบอกกันอย่างดีใจ ว่าฝูงควายของพวกเขาอยู่ในทามใกล้ๆ นี่เอง
"คนอื่นฟังเสียง อาจได้ยินต๊อก...แต๊ก... เหมือนกันหมด แต่คนที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เกิดและโตมาคู่กับวัวควาย พอได้ยินเสียงก็จะแยกออกทันทีว่า เป็นเสียงเกราะที่ห้อยคอวัวหรือควายตัวใด ซึ่งแม้จะใช้เหล็ก ,ไม้, หรือพลาสติก เป็นวัสดุเหมือนกัน แต่เสียงจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆ
ปัจจัย เช่น คุณภาพไม้ อายุไม้ ชนิดของไม้ เปรียบเหมือนเครื่องดนตรี ที่ให้โน๊ตเพลงต่างกัน" บุญมี โสภัง อดีตแกนนำม็อบชาวนาอีสาน ผู้ผันตัวเองมาร่วมงานกับทีมวิจัยชาวบ้านดอนแรด อธิบายถึงรายละเอียด คนสมัยก่อนเลี้ยงวัวหรือควายกันเป็นฝูง ราวๆ ครอบครัวละ 10-50 ตัว บางช่วงจะปล่อยวัวควายลงทาม (ริมฝั่งน้ำที่มีน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว) โดยตัดสะพาย ประมาณ 3 เดือน พอปล่อยไป 4-5 วัน เจ้าของก็จะติดตามดูแล ว่าควายของตนมุ่งหน้าไปทางไหนอย่างไร หรือบางทีก็ผลัดกันกับเพื่อนบ้าน ซึ่วิธีการที่จะรู้ว่าวัวควายของตนอยู่ที่ใด ก็คือฟังจากเสียงเกราะ หรือกระดิ่งที่ห้อยคอ และเกิดเสียงเวลาวัวควายเคลื่อนไหวนั่นเอง ส่วนในช่วงกลางคืนที่ควายนอนพักผ่อน มักจะมียุง แมลงรบกวน
จึงมักพบว่าควายทามนอนแช่ตัวอยู่ในขี้เลนรวมกันเป็นฝูง เป็นการช่วยป้องกันยุงหรือแมลงกัดต่อย แต่ในระยะหลัง ตั้งแต่ปี 2534 —2536 รถไถนาแบบเดินตาม ได้รุกเข้าสู่ชุมชน วัวควายจึงหายไปจากสังคมชาวทุ่งกุลาร้องไห้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะขายให้ "นายฮ้อย" (พ่อค้าวัว-ควาย ที่มีวิถีชีวิตคลุกคลีกับวัวควายอย่างใกล้ชิด
เพราะเวลาจะขายวัวหรือควาย ต้องไล่ต้อนเป็นฝูงผ่านป่า และหมู่บ้านหลายๆ แห่งจนถึงจุดหมาย และระหว่างทางก็จะแวะซื้อขายกับชาวบ้านในระแวกนั้นๆ ไปด้วย) ในราคาถูกแบบยกครอก เพื่อเอาเงินไปซื้อรถไถนา สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เลี้ยงควายหลังจากเรียนจบ พวกเขาจึงมุ่งหน้าเข้าสู่โรงงาน และสร้างครอบครัวในเมืองหลวง พอมีลูกก็หอบลูกมาให้พ่อแม่ที่อยู่ทางบ้านเลี้ยงดู ตัวเองเดินทางกลับไปเป็นลูกจ้างทำงานต่อ ช่องว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสังคมขยายห่างยิ่งขึ้น และอาชีพพ่อค้าวัวควาย ก็จะถูกเรียกอย่างล้อเลียนว่า "นายฮ้อย 5 นาที" แค่ต้อนขึ้นรถไปตกลงซื้อขายกันในตลาดเท่านั้น ไม่ต้องเลี้ยงดูระหว่างทาง หรือรอนแรมเป็นระยะเวลาหลายๆ เดือนเหมือนก่อน "ขณะเดียวกัน การพัฒนาของรัฐที่เข้ามาตั้งแต่ปี 2514 โดยประกาศให้ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่อยู่ในเขต 5 จังหวัด ประกอบด้วยร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร เป็นพื้นที่ยากจน ต้องได้รับการพัฒนาเป็นการเฉพาะจนมีการดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้โครงการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วงปี 2524-2534 ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพราะเป็นการพัฒนาที่คิดริเริ่มจากคนข้างนอก
มีแนวคิดมาจากกลุ่มประเทศตะวันตกตามกระแสโลกาภิวัฒน์ คนข้างในชุมชนแค่ทำตามนโยบายหรือกระแสการพัฒนา" บุญมี กล่าว
กระทั่งต่อมา เมื่อมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ เช่น ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ มูลนิธิประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ (GRID FOUNDATION) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชาวบ้านจึงตื่นตัวและคิดทำวิจัย เพื่อค้นหารากเหง้าของตนเอง
และเกิดโครงการชุดวิจัย "การจัดการพื้นที่ทามลุ่มน้ำมูลตอนกลางแบบบูรณาการโดยองค์กรชุมชน" ขึ้น โดยมีจุดประสงค์ เพื่อพยายามสร้างการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ทาม วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำกับความสัมพันธ์กับพื้นที่ทาม และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แนวทางข้างหน้าชุมชนจะอยู่ร่วม จัดการกับทามอย่างไร และถึงขณะนี้มีโครงการที่กำลังดำเนินการ 10 โครงการด้วยกัน ซึ่งในส่วนของ ต.ดอนแรดเอง ก็ทำ 1 โครงการ คือ โครงการวิจัย "ฟื้นฟูวิถีชีวิตควายทาม" และเพื่อให้โครงการนี้บูรณาการยิ่งขึ้น จึงมีการเปิดโรงเรียนเตรียมนายฮ้อยทุ่งกุลาร้องไห้ขึ้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 บริเวณหน้าวัดป่าธรรมนิเทศก์วราราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดป่าโนนยาง โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งในหมู่บ้าน และต่างถิ่น มากกว่า 10 คน เข้ามาขอสมัครเป็นศิษย์รุ่นบุกเบิก
บุญมี ผู้เพิ่มบทบาทเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย แบบใหม่ๆ หมาดๆ เล่าว่า บทบาทของนายฮ้อย ไม่ได้มีแค่การซื้อขายวัวควายเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นคนมีคุณธรรม มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี พูดเสียงดังฟังชัด สามารถดูแลรักษาวัวควายและทรัพยากรของตนเองได้ เช่น พื้นที่ทาม จะเลี้ยงวัวควายได้อย่างไร โดยไม่มีปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ ที่เลี้ยงที่ชื้นแฉะจะแก้ไขได้ไหม ควรใช้การรักษาโรคแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ เมื่อสัตว์เลี้ยงเกิดโรคขึ้น รวมถึงวิธีแลกเปลี่ยนซื้อขาย และการคัดเลือกพันธุ์-ลักษณะวัวควายที่ดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ "มูลมัง" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ในการรักษาและดูแลมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ไร่นา หรือวัวควาย โดยถ้าเป็นวัวควายชุดแรกที่ได้จากพ่อแม่เมื่อจะออกเรือน หากตายลงก็จะเก็บเขาวัวเขาควายนั้นไว้บนยุ้งฉาง เพื่อแสดงถึงความเคารพ และเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงการก่อร่างสร้างครอบครัวในช่วงที่ผ่านมา "โรงเรียนเตรียมนายฮ้อย จะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติจริง และจะเริ่มเรียนทันทีที่สถานที่พร้อม ซึ่งเบื้องต้นในวันเปิดโรงเรียน ได้รับบริจาคเงินเพื่อซื้อกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว 12 แผ่น คาดว่าจะได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย
ทำให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันในช่วงเดือนมีนาคม 2551- กุมภาพันธ์ 2552 นี้ เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้" ด้านเด็กชายศักดิ์พล นมัสสิลา นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านไพรขลา ต.ไพรขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็น 1 ในศิษย์ที่สมัครเข้าเรียนกลุ่มแรก บอกว่า แม้บ้านเกิดจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทาม
แต่เขาก็อยากเรียนรู้เรื่องราวของนายฮ้อย เพราะที่บ้านเลี้ยงวัวและควายมาตลอดตั้งแต่เขาจำความได้ แม้ว่าถึงขณะนี้จะขายออกไป จนเหลือเพียง 4-5 ตัวเท่านั้น
"การเรียนนายฮ้อย จะช่วยให้รู้จักรากเหง้าตัวเองที่มีความผูกพันกับวิถีเกษตรมานานหลายชั่วอายุคน รู้ถึงความสำคัญของวัวควายที่มีต่อคน และยังรู้วิธีเลี้ยงให้เติบโตแบบมีคุณภาพ สามารถรักษาอย่างถูกต้องเมื่อวัวควายเจ็บป่วย รู้จักเลือกซื้อวัวควายที่มีลักษณะดีมาเลี้ยง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตพ่อแม่จะยังเลี้ยงวัวหรือควาย และสืบทอดมาถึงผมแน่นอน" ศักดิ์พล อธิบาย เช่นเดียวกับศราวุฒิ ปราสัย เพื่อนร่วมชั้นที่ดั้นด้นมาสมัครเรียนนายฮ้อยด้วยกัน เล่าว่า บ้านของเขาเลิกเลี้ยงวัวควายมาหลายปีแล้ว แต่ที่บ้านตายายยังมีอยู่หลายตัว จึงสนใจฝึกเป็นนายฮ้อย เพราะมั่นใจว่าจะได้ใช้ประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่น นำไปบอกเล่าให้ผู้มาเยี่ยมเยือนในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ฟัง เพื่อให้รู้จัก และเข้าใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ณ วันนี้ แม้สังคมไทยจะหันมาพึ่งเทคโนโลยีในภาคเกษตรมากขึ้น ทำให้วัวควายถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการเลี้ยงเพื่อค้าขาย แต่ความผูกพันระหว่างคนกับวัวควายไม่ได้เลือนหายไปด้วย และโรงเรียนเตรียมนายฮ้อย น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่ มีองค์ความรู้ของนายฮ้อย จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เลี้ยงวัวควาย หรือดำเนินชีวิตในท้องถิ่นของตนได้อย่างราบรื่นในสถานการณ์ปัจจุบัน