มาตรการการจัดการซากยานยนต์ที่หมดอายุการใช้งานของญี่ปุ่น (End of Life Vehicle: ELV)

ข่าวยานยนต์ Monday March 10, 2008 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมียานยนต์ที่หมดอายุ การใช้งานเป็นจำนวนมาก ซากยานยนต์ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังสุสานรถยนต์เพื่อถอดอะไหล่และชิ้นส่วน นำมาขายต่อในตลาดอะไหล่มือสอง วัสดุมีค่าที่เหลือก็จะถูกนำไปขายต่อเป็นเศษวัสดุ ขณะที่ชิ้นส่วน/วัสดุที่ไม่มีค่าจะถูกทิ้งอย่างไม่ระมัดระวังและก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นภาระต่อสังคม โดยรถยนต์ 1 คัน ประกอบด้วยชิ้นส่วนซึ่งสามารถ Re-use และ Recycle ได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เป็นเศษเหลือทิ้งมีเพียงร้อยละ 20 ประเทศต่าง ๆ จึงกำหนดระเบียบหรือมาตรการเกี่ยวกับการจัดการซากยานยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน (End of Life Vehicle: ELV) เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น
ในประเทศญี่ปุ่นมีชิ้นส่วนรถยนต์และของเหลือใช้ที่เรียกว่า Automobiles Shredder Residues: ASR ประมาณ 180 กิโลกรัมต่อรถหนึ่งคัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วย พลาสติก กระจก เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม และของเสียที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว Hexachromium และ Cadmium ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่า ELV ที่ถูกต้องคือการเลือกชิ้นส่วนที่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ และจัดการกับสารพิษที่เหลืออย่างถูกวิธี กระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวง METI ของญี่ปุ่นจึงได้ร่วมกันออกกฎหมาย ELV Recycling Act เมื่อเดือนมกราคม 2548 เพื่อป้องกันการทิ้ง ASR เช่น Fluorocarbons (เป็นก๊าซชนิดหนึ่งในกลุ่ม Green House Gas ที่ก่อให้เกิดภาวะ โลกร้อน) Air bags ทั้งนี้ บริษัทที่ผลิตหรือนำเข้ารถยนต์รวมทั้งผู้ซื้อรถใหม่ต้องฝากเงินจำนวนหนึ่งประมาณ 8,000-18,000 เยนต่อคันไว้ที่ Japan Automobile Recycling Promotion Center เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการ Recycle โดยผู้ใช้รถคนสุดท้ายจะเป็นผู้ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการ Recycle ภายหลังนำเอกสารหลักฐานการ Recycle ไปแสดง ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำ ASR Recycling ร้อยละ 70 และ ELV Recycling ร้อยละ 95 ภายในสิ้นปี 2015
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมาย ELV Recycling Act เพราะสังคมของญี่ปุ่นถือเป็นส่วนหนึ่งของ Corporate Social Responsibility (CSR) ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน ประกอบกับผู้ใช้รถและบริษัทที่ทำธุรกิจ ELV Recycling มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในส่วนของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไปญี่ปุ่น การจัดการกับ ELV ที่ถูกวิธีและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งการออกกฎหมาย ELV อาจเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต
ในปี 2550 ประเทศไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปญี่ปุ่นมูลค่า 26,128 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 3 และเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมากเป็นอันดับสี่ รองจากแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และยางพารา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ