ธรรมศาสตร์ แนะทางออก ใช้ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” ผลิตหน้ากากอนามัย ในภาวะขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Tuesday March 10, 2020 16:49 —ThaiPR.net

ธรรมศาสตร์ แนะทางออก ใช้ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” ผลิตหน้ากากอนามัย ในภาวะขาดแคลน กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SCI-TU) และ คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 แนะใช้ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” เป็นทางเลือกผลิตหน้ากากอนามัย ป้อนบุคลากรทางการแพทย์ ลดเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ในภาวะขาดแคลน โดยมีแนวคิดในการใช้ผ้าที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น ป้องกันการแพร่เชื้อ พร้อมเตรียมทดสอบความสามารถในการสะท้อนน้ำ และความคงทนของเส้นใย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองกิจการนักศึกษา โทรศัพท์ 02-564-2924 , 02-564- 4408 และสำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ScienceThammasat/posts/2200214250082114 รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) โดยมีแหล่งกำเนิดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น ของประเทศจีน นับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้แพร่ระบาดครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุด วันที่ 9 มกราคม 2563 องค์กรอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 3,831 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 110,107 ราย ขณะที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปรายงานผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อ จำนวนทั้งหมด 50 ราย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข จึงได้จัดตั้ง “คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19” (COVID-19) ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอก อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับมือสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และ ประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย จะอยู่ในเฟส 2 แต่ปัจจุบันการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ “หน้ากากอนามัย” กลับขาดแคลนจำนวนมากจากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศที่สูงกว่า 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับกำลังการผลิตของภาคโรงงานรวม 10 โรง ที่สามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือติดเชื้อไวรัส ตลอดจนลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - Use) ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาชน คณะทำงาน จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัย คุณสมบัติผ้าที่เหมาะสม ในการพัฒนา “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” หน้ากากผ้าทางเลือก ที่ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ ด้าน อาจารย์ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” นั้น เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ โดย “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” (Cotton-Silk) มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton – Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ ไฟเบอร์ เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed) นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ด้วยสาร NUVA – 1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอนสามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ NUVA – 1811 ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100 – 2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง ซึ่งทางคณะทำงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และความคงทนของเส้นใย ว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป ดังนั้น “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกในการผลิตเป็นหน้ากากผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดี ในภาคประชาชน ยังสามารถประดิษฐ์ “หน้ากากผ้า D.I.Y. ด้วยผ้านิตเจอร์ซี่” เพื่อใช้ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอหรือจาม ทดแทนหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลน เนื่องจากโครงสร้างผ้านิตเจอร์ซี่ (Jersey Knit) จะมีลักษณะคล้องกันเป็นห่วงตลอดทั้งผืน โดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน อีกทั้งยังเป็นผ้าถักที่มีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี สามารถซักและใส่ซ้ำได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบุคลากรและนักศึกษาภายในคณะ โดยกำหนดให้มีรอบการทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการใช้งานสูง จัดทำเจลแอลกอฮอล์ 70% ประจำจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะฯ เนื่องจากมีการติดต่อราชการบ่อยครั้ง อีกทั้งมีมาตรการในการคัดกรองโดยการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารเรียน และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแลตนเองเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่นักศึกษา และบุคลากร เพราะมาตรการเหล่านี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้ สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังได้ร่วมกับ คณะทำงานฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และภาคเอกชน เดินหน้าผลิตหน้ากากผ้าภายใต้กิจกรรม “ธรรมศาสตร์รวมใจต้านภัยโคโรนา” เพื่อส่งเสริมการทำหน้ากากผ้าชนิดอื่น ๆ ที่สามารถใช้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแก่บุคลากรและนักศึกษา มธ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองกิจการนักศึกษา โทรศัพท์ 02-564-2924 , 02-564-4408 และสำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ScienceThammasat/posts/2200214250082114

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ