สวนมะปราง-มะยงชิดให้ระวังโรคแอนแทรคโนส

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2020 08:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมวิชาการเกษตร อากาศร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่ระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะปรางและมะยงชิดให้ระวังโรคแอนแทรคโนส มักพบเชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ใบ พบแผลรูปร่างไม่แน่นอน ขอบแผลชัดเจนสีน้ำตาลเข้ม กลางแผลสีน้ำตาลอ่อนบางใสกว่าเนื้อใบรอบๆ กรณีมีความชื้นสูง แผลจะเพิ่มจำนวนขยายใหญ่อย่างรวดเร็วติดต่อกันทั้งใบ ทำให้ใบบิดเบี้ยวหรือไหม้แห้ง หากรุนแรงถึงระยะออกดอก เชื้อราสาเหตุโรคจะเข้าทำลายช่อดอก โดยเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลดำกระจายบนก้านดอก ทำให้ดอกเหี่ยวและหลุดร่วงไม่ติดผล ผลอ่อน จะพบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำและ ร่วงหล่น เชื้อราสาเหตุโรคจะแฝงอยู่ที่ผลอ่อนโดยไม่แสดงอาการของโรค แต่จะแสดงอาการเมื่อผลแก่ โดยพบจุดแผลสีดำเล็กๆ ต่อมาแผลขยายลุกลามและบริเวณแผลอาจพบรอยแตก ทำให้ผลเน่าในที่สุด เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบพืชเริ่มมีอาการของโรคให้ตัดแต่งกิ่งและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค และกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่ม จากนั้น ให้ควบคุมปริมาณธาตุอาหารให้เหมาะสม ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนมากเกินไป ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค และเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป สำหรับแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ จะพบในช่วงแตกใบอ่อน เริ่มแทงช่อดอก และหลังติดผลอ่อน เกษตรกรควรพ่นในช่วงติดผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค คือ มีฝนตกและอากาศร้อนชื้น ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชดังกล่าว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่น้อยกว่า 15 วัน หลีกเลี่ยงการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชในระยะดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสรของพืช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ