ม.มหิดล วอนอย่าทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงแม้ในช่วงวิกฤต

ข่าวทั่วไป Wednesday April 8, 2020 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลการสำรวจเมื่อปีพ.ศ.2550 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัดประมาณ 350,000 ตัว 10 ปีต่อมาพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยในปีพ.ศ.2560 พบสุนัขจรจัดถึงประมาณ 820,000 ตัว จนกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัดถึงประมาณ 1.92 ล้านตัว และจะมากถึง 5 ล้านตัวในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า โดยได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร บทลงโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีสุนัขและแมวจรจัดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกทอดทิ้งโดยผู้เป็นเจ้าของ ยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัส Covid-19 แพร่ระบาด หลายคนเกิดความวิตกกังวล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่าสุนัขและแมวเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัส Covid-19 ดังนั้นจึงไม่ควรทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง และหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่แนะนำให้นำสัตว์เลี้ยงไปฝากตามสถานรับฝากสัตว์เลี้ยง เพราะอาจสร้างความเครียดให้กับสัตว์ และหากมีสัตว์เลี้ยงอยู่กันอย่างหนาแน่น อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และนอกจากนี้ ควรล้างมือก่อน และหลังการสัมผัสตัวสัตว์ และทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่ได้ Work From Home ตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่ "บ้านรักหมาศาลายา" ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสวัสดิภาพสุนัขจรจัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ภายใต้การดูแลของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าสุนัขที่อยู่ในโครงการ "บ้านรักหมาศาลายา" ส่วนหนึ่งมีอายุมากขึ้น และป่วยด้วยโรคที่มากับความชรา ได้แก่ โรคไต โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาล และการจัดอาหารให้เหมาะสมต่อโรค ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้บริจาคอาหารสัตว์จนเพียงพอแล้ว แต่ยังขาดในส่วนของอาหารที่ต้องใช้ดูแลเฉพาะโรค รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามอายุของสัตว์ "ในช่วง Covid-19 ระบาด อยากให้รักษาสุขอนามัยกันให้ดีทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง เพื่อตัวท่านเองและสัตว์เลี้ยงที่ท่านรัก ที่สำคัญไม่ควรทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเราเองก็ไม่ทอดทิ้งสุนัขที่อยู่ในความดูแลของโครงการ "บ้านรักหมาศาลายา" เช่นกัน แม้ว่าในช่วง Covid-19 ระบาด "บ้านรักหมาศาลายา" จะปิดเยี่ยมชม และงดกิจกรรมจิตอาสา แต่ก็ยังเปิดรับบริจาคสำหรับผู้ที่มีจิตเมตตาต่อสัตว์ โดยสามารถติดต่อได้ที่ 099-3302424 หรือ FB: บ้านรักหมาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล - Salaya Dog Shelter Mahidol University (https://www.facebook.com/salayadogshelter) เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน คนและสัตว์ไม่ทอดทิ้งกัน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงวลาสินี ศักดิ์คำดวง คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ