จีเอสเค จับมือ ซาโนฟี่ พัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19

ข่าวทั่วไป Thursday April 16, 2020 16:13 —ThaiPR.net

จีเอสเค จับมือ ซาโนฟี่ พัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--เอบีเอ็ม คอนเนค Logo: Sanofi Canada (CNW Group/Sanofi-Aventis Canada Inc.) จีเอสเค ร่วมกับ ซาโนฟี่ ผนึกกำลังเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19คาดว่า วัคซีนทดลองจะเข้าสู่การทดลองทางคลินิกในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และพร้อมใช้ภายในครึ่งปีหลังของปี2564 บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น หรือ จีเอสเค และ ซาโนฟี่ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนที่มีสารเสริมฤทธิ์(Adjuvanted vaccine)เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมของทั้งสององค์กร เพื่อต่อกรกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในปัจจุบัน ภายใต้ความร่วมมือ ซาโนฟี่จะแบ่งปันสารตั้งต้นในวัคซีนที่เรียกว่า S-protein COVID-19 antigen ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีชนิด recombinant DNA ซึ่งวิธีนี้จะสามารถผลิตสารพันธุกรรมที่ตรงกับโปรตีนบนพื้นผิวของไวรัสอย่างแม่นยำ อันจะทำให้นำมาผลิตเป็นวัคซีนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ขณะที่จีเอสเค จะแบ่งปันเทคโนโลยีในเรื่องสารเสริมฤทธิ์ชนิด Pandemic Adjuvant การใช้สารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant)มีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์ที่มีการระบาดทั่วโลกเช่นนี้ เนื่องจากสารนี้จะสามารถลดปริมาณโปรตีนที่ใช้ในการผลิตวัคซีนแต่ละโด๊ส ทำให้สามารถผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนมาก อันจะปกป้องชีวิตของผู้คนได้มากขึ้น พอล ฮัดสัน ซีอีโอ ซาโนฟี่ กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านสุขภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะรับมือกับเรื่องนี้ได้โดยลำพัง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ซาโนฟี่พร้อมแบ่งปันความเชี่ยวชาญและทรัพยากรต่างๆ ของบริษัทให้กับเพื่อนร่วมธุรกิจ อาทิ จีเอสเค โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส” เอ็มมา วอล์มสลีย์ ซีอีโอ จีเอสเค กล่าวว่า “นับเป็นความร่วมมือของสองผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลกในการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งสององค์กร ความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามของทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีนเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจำนวนมากจากโรคโควิด-19ได้ในเร็ววัน” การผลิตวัคซีนโดยใช้ Protein-based antigen ร่วมกับสารเสริมฤทธิ์ เป็นนวัตกรรมในการผลิตวัคซีนของบริษัทวัคซีน ชั้นนำในปัจจุบัน เพราะสารเสริมฤทธิ์ จะช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้นานขึ้น ทั้งยังสามารถผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าวัคซีนนี้จะสามารถทดลองในมนุษย์ได้ในครึ่งหลังของปี 2563และหากประสบความสำเร็จ อาจจะสามารถผลิตใช้จริงได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซาโนฟี่ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ถึงการพัฒนาวัคซีนทดลองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ชนิดเชื้อตายที่ได้รับการสนับสนุนในด้านเงินทุนและความร่วมมือจาก Biomedical Advanced Research and Development Authority(BARDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยซาโนฟี่และจีเอสเคจะหารือเรื่องการสนับสนุนด้านเงินทุนของรัฐบาลประเทศอื่น ๆ และสถาบันระดับโลกต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ดร. ริค เอ ไบรท์ ผู้อำนวยการของ BARDA กล่าวว่า“ความร่วมมือของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของผู้นำในธุรกิจวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้โดยเร็วที่สุด การพัฒนาวัคซีนทดลองป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019ที่ใช้สารเสริมฤทธิ์จะช่วยลดปริมาณโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ต่อวัคซีนหนึ่งโด๊ส ทำให้เราสามารถผลิตวัคซีนให้ผู้คนได้จำนวนมากยิ่งขึ้นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และยังช่วยให้โลกมีความพร้อมยิ่งขึ้นในการป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ในอนาคต” ทั้งนี้ ซาโนฟี่และจีเอสเค จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งมีหน้าที่จัดหาทรัพยากรต่าง ๆ ของทั้งสองบริษัทมาใช้ในการพัฒนาวัคซีน โดยมี เดวิด เลียว หัวหน้าฝ่ายวัคซีนทั่วโลกของซาโนฟี่ และ โรเจอร์ คอนเนอร์ ผู้อำนวยการด้านวัคซีนของ จีเอสเค เป็นประธานร่วม ซาโนฟี่และจีเอสเค เชื่อว่า การสนับสนุนให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และพร้อมส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนนี้อย่างเท่าเทียมกัน ความร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซาโนฟี่และจีเอสเคเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019โดยทั้งสองบริษัทได้ลงนามในข้อตกลงการใช้ทรัพยากรเพื่อการวิจัย (Material Transfer Agreement)เพื่อให้ทั้งสององค์กรสามารถเริ่มดำเนินงานได้ทันที และจะมีการสรุปรายละเอียดที่ชัดเจนของความร่วมมือครั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ