"เกษตร" เร่งเครื่อง สั่งทูตเกษตรประจำประเทศจีน รุกหนัก หวังเจาะช่องทางตลาดสินค้าเกษตรไทยเพิ่ม สู้ศึกสถานการณ์โควิด

ข่าวทั่วไป Thursday April 23, 2020 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน ได้ประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยได้มอบหมายให้ผู้ส่วนราชการประสานงานร่วมกันเพื่อเร่งรับมือต่อสถานการ์โควิด-19 อย่างเร่งด่วน ล่าสุด ได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง พบว่า ประเทศจีนเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการปิดเมืองหลังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง แต่มีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีมาตรการคัดกรองอย่างละเอียด แสดงให้เห็นว่า ตลาดการค้าสินค้าเกษตรจีนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ถึงประมาณ 70 – 80% สามารถขยายการขนส่งภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคได้ โดยในช่วง 1 มี.ค. – 14 เม.ย. 2563 มีการส่งออกผลไม้หลักที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ผ่านช่องทางต่างๆ ของด่านตรวจพืช ทั้งทางบก เรือ และอากาศ ซึ่งมีปริมาณส่งออก รวม 156,076 ตัน มูลค่า 13,947 ล้านบาท โดยในเดือนมีนาคม 2563 มีปริมาณส่งออกผลไม้หลักที่สำคัญ จำนวน 75,908 ตัน และในช่วงวันที่ 1 – 14 เมษายน 2563 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น จำนวน 80,168 ตัน ในระยะเวลาเพียงครึ่งเดือน มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางบกจากไทยไปจีนซึ่งมีปริมาณ 83,808 ตัน ต้องผ่านเส้นทางประเทศลาว และเวียดนาม เป็นเส้นทางสายหลักไปสู่ประเทศจีน ยังพบว่ามีปัญหาติดขัดที่ด่านตรวจของประเทศดังกล่าว ซึ่งเพิ่มมาตรการเข้มงวดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้เน้นการขนส่งทางเรือเพิ่มมากขึ้น โดยการเพิ่มเที่ยวเรือในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงหารือเป็นการภายในกับผู้บริหารของทั้ง 2 ประเทศอย่างเร่งด่วน ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาระบบการตรวจรับ ใบรับรองต่างๆ เพื่อไม่ให้ผลไม้ต้องติดค้างอยู่ที่ด่านสร้างความเสียหาย ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศจีน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลผลิตของไทยโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการด้านการตลาดต่างประเทศได้กำชับให้ทูตเกษตร ทูตพาณิชย์ เดินหน้าการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น และเป็นเซลส์แมนขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด รวมทั้งช่วยดูในเรื่องการจัดหาสินค้านำเข้า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งทางอากาศ ล่าสุด นายอศิศร จันทรประภาเลิศ ทูตเกษตร ณ กรุงปักกิ่ง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาจมีความยากลำบากในการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้ารายใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากคู่ค้ารายใหม่ชาวจีนไม่สามารถเดินทางมาคัดเลือกสินค้าเกษตร ณ ประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี ทูตเกษตรทุกคนไม่ได้นิ่งเฉย เร่งเจรจาขยายสินค้าเกษตรกับคู่ค้ารายเดิม ซึ่งจะมีตัวแทนคนจีน ที่มาคัดเลือกสินค้าอยู่ที่ประเทศไทยอยู่แล้ว โดยคาดว่า สินค้าเกษตรทุกชนิดจากไทยไปจีนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่กำลังทยอยให้ผลผลิต ที่สำคัญได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด นอกจากนี้ มีรายงานจากนางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ ทูตเกษตร ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้มีการปรับตัวเร่งเดินหน้ากระตุ้นชาวจีนให้เลือกบริโภคสินค้าจากประเทศไทย โดยร่วมกับบริษัทซูหนิง ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแพลตฟอร์มตลาดและสินค้าออนไลน์อันดับ 3 ของจีน และห้างคาร์ฟูได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยผ่านช่องทางออนไลน์ในจีน และออกเผยแพร่ในห้างคาร์ฟูและแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนทั่วประเทศ “จีนยังคงเป็นคู่ค้าและเป็นพี่น้องกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งสองประเทศช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น เกษตรกรท่านใดยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแปลง และโรงคัดบรรจุ และขอใบรับรองการส่งออกกับกรมวิชาการเกษตร ขอให้เร่งดำเนินการโดยด่วนครับ เพื่อผลประโยชน์และรักษาสิทธิ์ของท่านในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน” นายอลงกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ส่งข้อมูลทะเบียนสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุภัณฑ์ผลไม้ จำนวน 5 ชนิด ส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนของไทย (ฉบับเดือนเมษายน 2563) ให้ GACC ประกาศขึ้นในเว็ปไซด์ของจีน ได้แก่ 1) ทุเรียน จำนวน 30,076 สวน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 11,672 สวน 2) มังคุด จำนวน 18,919 สวน เพิ่มขึ้น 8,921 สวน 3) มะม่วง จำนวน 5,671 สวน เพิ่มขึ้น 698 สวน 4) ลำไย จำนวน 31,109 สวน เพิ่มขึ้น 2,420 สวน และ 5) ลิ้นจี่ จำนวน 1,404 สวน เพิ่มขึ้น 2 สวน และโรงคัดบรรจุภัณฑ์ผลไม้ จำนวน 1,474 ราย เพิ่มขึ้น 139 ราย ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ