ฟิทช์ ปรับแนวโน้มเครดิต KCE เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2020 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทฯ ที่ 'A-(tha)’ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ต่อการฟื้นตัวของรายได้และความสามารถในการทำกำไรของ KCE ที่อาจจะใช้เวลานานจนถึงปี 2565 ฟิทช์คาดว่ารายได้ในรูปเงินบาทจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเหตุการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 13 ในปี 2564 อย่างไรก็ตามหากการฟื้นตัวของรายได้และอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ดังกล่าวที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจแสดงถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลง และอาจส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิต การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า KCE จะสามารถรักษาสถานะหนึ่งในผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง ฟิทช์เชื่อว่า บริษัทฯ จะยังคงสามารถสร้างอัตราส่วนกระแสเงินสดสุทธิต่อรายได้ (Free cash flow margin) ในระดับสูงกว่าร้อยละ 3 โดยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงทุนและการจ่ายเงินปันผลอย่างเหมาะสม ถึงแม้รายได้และกำไรของบริษัทฯ อาจจะอ่อนแอลงจากปีก่อน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ KCE น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแรง ต่ำกว่า 1.5 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต รายได้ลดลงจากโควิด-19 – ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ KCE จะลดลงร้อยละ 20-25 ฟิทช์คาดว่าอัตราการฟื้นตัวของผลประกอบการน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจใข้เวลา 2-3 ปีที่รายได้จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายอย่างที่กดดันอุตสาหกรรมและสายการผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น อุปสงค์ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสี่ยงทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษจากเชื้อเพลิง รวมถึงค่าปรับต่างๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปยุโรปอาจต้องเสียจากเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันยังอาจทำให้การเปลี่ยนมาใช้ระบบรถยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมมีความล่าช้า อัตราส่วนกำไรที่ลดลง – ฟิทช์คาดว่า EBITDA Margin ของ KCE จะลดลงมาอยู่ร้อยละ 8-10 ในปี 2563 (2562: ร้อยละ 15) จากประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำลงจากยอดขายที่ลดลง โดย EBITDA Margin น่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 14-16 ในปี 2565 เป็นต้นไป เมื่อสถาณการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ฟิทช์มองว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตของโรงงานใหม่ และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความซับซ้อน (HDI) ซึ่งมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างสูงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของอัตรากำไรของ KCE ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ฟิทช์จะไม่คิดว่า EBITDA Margin ของบริษัทฯ จะกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 20 เหมือนในอดีตก็ตาม อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท – ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ การลดลงของปริมาณการผลิตทำให้อัตรากำไรลดลงจากต้นทุนคงที่ ยกตัวอย่างเช่น จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 4 และปริมาณการขายลดลงร้อยละ 11 ส่งผลให้ EBITDA Margin ลดลงเป็นร้อยละ 15.4 ในปี 2562 จากร้อยละ 20.2 ในปี 2561 สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง – ฟิทช์คาดว่า KCE จะยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่แข็งแกร่ง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้กำไรของบริษัทจะลดลง โดยอัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ (2562: FFO Net Leverage อยู่ที่ 0.5 เท่า) และความสามารถในการสร้าง free cash flow margin ในระดับสูงกว่าร้อยละ 3 จะช่วยลดผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ในช่วงที่สภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานมีความท้าทาย อย่างไรก็ตาม ประมาณการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า บริษัทจะมีการใช้จ่ายลงทุนและจ่ายเงินปันผลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัท ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่ – อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) มากกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 โอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมแผงวงจรรถยนต์นี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว แม้ว่าจะมีความผันผวนจากภาวะเศรฐกิจในระยะสั้น นวัตกรรมด้านยานยนต์ต่างๆ เช่น ระบบความปลอดภัย ระบบผู้ช่วยคนขับ ระบบความบันเทิงภายในรถยนต์ (Infotainment) ซึ่งเดิมเคยเป็นระบบที่ติดตั้งเฉพาะในรถยนต์หรู แต่ปัจจุบันกลายเป็นระบบมาตรฐานสำหรับรถยนต์ทั่วไป การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง – ความพยายามของ KCE ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกในสัดส่วนร้อยละ 50 ของรายได้แผ่นพิมพ์วงจรในปี 2562 ลดลงจากร้อยละ 65 ในปี 2553 การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บมจ. โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วน หนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ KCE ต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ขายสินค้าคนละชนิด EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า โดย EPG มีการกระจายรายได้จากการผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นและผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียว อันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทจึงเท่ากัน สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ รายได้ลดลงร้อยละ 30 ในปี 2563 (ปี 2562 ลดลงร้อยละ 13.5) จากความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรฯ สำหรับยานยนต์ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดดำเนินการผลิตของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในไตรมาส 2 ของปี 2563 รายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเติบโตในอัตราร้อยละ 13 ในปี 2564 และร้อยละ 5-6 ในปี 2565EBITDA Margin ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ในปี 2563 (ปี 2562 ร้อยละ 15.9) EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 14-16 ในปี 2565 จากการฟื้นตัวของอัตราการผลิตและการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจร HDIราคาทองแดงเฉลี่ยลดลงในปี 2563 จากอุปทานส่วนเกินในตลาดค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับการซ่อมบำรุงและการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น จำนวน 200-400 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2563-2565 (ปี 2562 ค่าใช้จ่ายลงทุน 634 ล้านบาท) ไม่มีการลงทุนเขนาดใหญ่พื่อขยายกำลังการผลิตไม่มีการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปี 2563-2564 ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก KCE สามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแรงในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง โดยมี EBITDA Margin เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 13 ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วน FFO Net Leverage ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยลบ กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้ FFO Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่องEBITDA Margin ต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่องสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ สภาพคล่อง สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ – ณ สิ้นปี 2562 KCE มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 1.3 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก ส่วนหนี้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระในปี 2563 มีจำนวน 259 ล้านบาท บริษัทมีเงินสดจำนวน 1.0 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท และ 83 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ