สธ.เขตสุขภาพที่ 9 จัด 5 แผนฟื้นฟูเยียวยาจิตใจหลังวิกฤติระบาดโรคโควิด-19 เน้นเฝ้าระวัง ป้องกัน“โรคทางใจ”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2020 16:02 —ThaiPR.net

สธ.เขตสุขภาพที่ 9 จัด 5 แผนฟื้นฟูเยียวยาจิตใจหลังวิกฤติระบาดโรคโควิด-19  เน้นเฝ้าระวัง ป้องกัน“โรคทางใจ” กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เขตสุขภาพที่ 9 จัด 5 แผนฟื้นฟูจิตใจประชาชนหลังวิกฤติระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่างพ.ศ.2563-2564 เน้นการเยียวยาและเฝ้าระวังป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะ 5 โรคทางใจ คือ เครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ภาวะเหนื่อยล้า และติดสุราหรือยาเสพติด พร้อมทั้งอัดฉีดวัคซีนใจลงสู่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนเพื่อให้สามารถปรับตัวกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเตรียมประเมินความเข้มแข็งทางจิตใจประชาชนอายุ15 ปีขึ้นไปใน 88 อำเภอในเดือนหน้านี้ นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประจำเขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เขตสุขภาพที่ 9 ได้จัดทำแผนฟื้นฟูจิตใจประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีประมาณ 6 ล้านคนภายหลังวิกฤติระบาดของโรคโควิด-19 ( COVID-19) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่นววิถีหรือนิว นอร์มอล ( New Normal) ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัด มีจำนวนผู้ยืนยันติดเชื้อโรคนี้สะสมจนถึงวันที่ 18 พ.ค. 2563 เวลา 14.00 น. รวมทั้งหมด 44 คน แบ่งเป็นชัยภูมิ 3 คน นครราชสีมา 19 คน บุรีรัมย์ 13 คน และสุรินทร์ 9 คน นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวว่า แผนฟื้นฟูประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและการควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เน้นการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สภาวะปกติได้โดยเร็วและปลอดภัย 2. โครงการพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช โดยเน้นโรคทางจิตใจที่เป็นผลกระทบตามมาหลังจากภาวะวิกฤติของโรคระบาดใหม่ ทั้งในกลุ่มของประชาชนและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญ5 โรคคือโรคเครียด โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเบิร์น เอ้าท์ (Burn out ) และการติดสุราหรือยาเสพติด โดยให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งซึ่งมีกว่า 1,000 แห่งจัดบริการเชิงรุก ค้นหาผู้ที่มีปัญหา เพื่อให้การดูแลเยียวยาตามมาตรฐานกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม และดูแลต่อเนื่องจนหายหรือทุเลาและไม่ป่วยซ้ำอีกและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งให้ทุกจังหวัดเปิดสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการปรึกษาคลายเครียด คลายความวิตกกังวลได้สะดวก ตลอด 24 ชั่วโมง 3.โครงการสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านทางหอกระจายข่าวหมู่บ้านและอสม.รวมทั้งสื่อโซเชียล เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนให้สามารถดูแลสุขภาพจิตตนเองได้อย่างถูกต้อง 4. โครงการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต และ5.โครงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงานโดยเฉพาะทีมวิกฤติสุขภาพจิตหรือทีมเอ็มแคท (MCATT) ทั้ง 5 แผนมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมพ.ศ.2563จนถึงพ.ศ.2564 โดยมีโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 สนับสนุนวิชาการให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งได้จัดประชุมทางไกลหรือเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ ชี้แจงความเข้าใจไปแล้ว ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์กล่าวว่า ตามแผนการฟื้นฟูจิตใจหลังวิกฤติระบาดของโรคโควิด-19 รพ.จิตเวชฯจะดำเนินการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต 4 เรื่องคือความเครียด ซึมศร้า การฆ่าตัวตาย และภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน โดยจะสำรวจในกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคโควิด-19และผู้ถูกกักตัว 2.กลุ่มเปราะบางในสังคม เช่นผู้พิการ คนไร้ที่พึ่ง 3.กลุ่มประชาชนทั่วไป และ4.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้แอพพลิเคชั่นตรวจคัดกรองออนไลน์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีคำแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้น พร้อมทั้งได้จัดผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆเช่นจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลจิตเวช เป็นต้น บริการให้คำปรึกษาผ่านทางแช็ตบอท (Chat bot) ,ไลน์ (LINE) และทางสายด่วนรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลข 0 4423 3999 และ 06 1023 5151 ด้วย นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ จะเน้นการสร้างวัคซีนใจ 3 ระดับคือ ระดับบุคคล จะเน้นเรื่อง การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจคือ “อึด ฮึด สู้” ส่วนระดับครอบครัวจะเน้นการส่งเสริม “3 พลัง” คือพลังบวก เปลี่ยนประสบการณ์เป็นความรู้ พลังยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้ครอบครัวปรับตัวอยู่กับสภาพปัญหาได้ และพลังร่วมมือ คือให้คนในครอบครัวร่วมด้วยช่วยกันช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรค สำหรับในระดับชุมชนจะเน้นเรื่อง “4 สร้าง 2 ใช้” คือสร้างสรรค์กิจกรรม การสื่อสารสร้างบรรยากาศ สร้างเสริมเศรษฐกิจ และสร้างการสนับสนุนทางสังคม ใช้พลังชุมชนทำให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพและใช้สายสัมพันธ์ในครอบครัวช่วยดูแลกัน โดยจะมีการประเมินความเข้มแข็งทางจิตใจในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 88 อำเภอของ4 จังหวัดอีสานตอนล่างในเดือนหน้านี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ