พลเอก ประวิตร สั่งตั้งคณะทำงานพัฒนาน้ำบาดาล แก้ปัญหาการขุดเจาะให้สอดคล้องแผนรัฐ

ข่าวทั่วไป Thursday May 21, 2020 14:37 —ThaiPR.net

พลเอก ประวิตร สั่งตั้งคณะทำงานพัฒนาน้ำบาดาล แก้ปัญหาการขุดเจาะให้สอดคล้องแผนรัฐ กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่ง สทนช.ตั้งคณะทำงานกำหนดพื้นที่พัฒนาน้ำบาดาล บูรณาการวางแผนทั้งวิเคราะห์ศักยภาพ การกำหนดพื้นที่ การขุดเจาะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของรัฐบาล มั่นใจจะทำให้การใช้น้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สทนช. เร่งดำเนินการตั้งคณะทำงานกำหนดพื้นที่พัฒนาน้ำบาดาลขึ้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณา วิเคราะห์ปริมาณน้ำบาดาล กำหนดแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์การขุดเจาะน้ำบาดาล ตลอดจนการบริหารศักยภาพน้ำบาดาลในภาพรวม การกำหนดพื้นที่พัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพน้ำบาดาล และเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวจะประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองทัพบกหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 14 หน่วยงาน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะทำงาน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่ผ่านมา โครงการขุดเจาะน้ำบาดาลมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กรมการข้าว กองทัพบก และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวรวม 1,297 โครงการ ได้ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น 11.11 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จากรายงานการติดตามสถานการณ์น้ำบาดาลในประเทศไทย ปี 2562 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2562 จากการจัดทำบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล จำนวน 2,506 บ่อทั่วประเทศ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้น้ำบาดาลค่อนข้างมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในชั้นน้ำบาดาล ซึ่งมีแนวโน้มลดลงในหลายพื้นที่ เช่น ภาคเหนือที่บริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่างหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดพิจิตร ชัยนาท และสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่น้ำบาดาลลดลงกระจายเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดชลบุรีและระยอง และภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดสงขลา นอกจากนั้นการขุดเจาะบ่อบาดาลและการนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ อาจเกิดการสูญเปล่าด้านพลังงานและงบประมาณที่ต้องมีความชัดเจน “การจัดตั้งคณะทำงานกำหนดพื้นที่พัฒนาน้ำบาดาลในครั้งนี้ จะนำข้อมูลทางวิชาการดังกล่าวและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการวางแผนการบริหารจัดการ การกำหนดพื้นที่ขุดเจาะน้ำบาดาล การฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เฝ้าระวังให้กลับมามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยเป็นการกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในระยะต่อไปเป็นไปอย่างยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีด้วย" เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ