เลี้ยงลูกให้ถูกทาง สร้างสมองด้วย Cognitive Science

ข่าวบันเทิง Friday May 29, 2020 10:04 —ThaiPR.net

เลี้ยงลูกให้ถูกทาง สร้างสมองด้วย Cognitive Science กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--นานมีบุ๊คส์ ปัจจุบันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษาร่างกายมนุษย์ก้าวหน้าไปอย่างมาก และเริ่มศึกษาในส่วนที่เป็นความคิดนามธรรมได้มากขึ้น ทั้งเรื่องการรับรู้ของประสาทสัมผัส ระบบการเรียนรู้และวิธีคิดต่าง ๆ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเคยเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของ "จิตใจ" ที่ไม่อาจวัด คาดเดา หรือมีหลักฐานมาอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ โดยเน้นศึกษาไปที่ระบบการทำงานของสมอง ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์เราลึกซึ้งและรอบด้านยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์สาขาที่ศึกษาลักษณะของสมองในด้านนี้โดยเฉพาะเรียกว่า Cognitive Science ซึ่งในภาษาไทยมีคำเรียกหลายอย่าง เช่น ปริชานศาสตร์ ประชานศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา ถือเป็นสาขาวิชาใหม่ที่เพิ่งเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ และเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการที่อาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชามาประกอบกัน ความสำคัญของ Cognitive Science คือ การเชื่อมโยงให้เห็นว่าลักษณะทางกายภาพของสมอง ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาทบริเวณก้านสมอง โครงสร้างสมองส่วนต่าง ๆ รวมถึงระบบอวัยวะในร่างกายล้วนสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างซับซ้อน ผลการวิจัยในสาขานี้ก่อให้เกิดคุณูปการแก่วงวิชาการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแพทย์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ ครุศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ และแม้แต่ในตลาดหนังสือปัจจุบันก็มีผลงานที่ปรับประยุกต์ Cognitive Science ออกมาให้อ่านกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น หนึ่งในหนังสือที่เราจะแนะนำในวันนี้จึงเป็นเรื่อง ช้าบ้างไม่เป็นไร สมองเด็กฝึกได้ทุกวัน เขียนโดยนายแพทย์คะโตะ โทะชิโนะริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา ชีวจิตวิทยา และ Cognitive Science จากประเทศญี่ปุ่น เนื้อหาหลักของ ช้าบ้างไม่เป็นไร สมองเด็กฝึกได้ทุกวัน คือการแนะนำให้คุณได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติทางสมองที่สัมพันธ์กับความบกพร่องทางพัฒนาการของเด็ก ๆ และที่สำคัญยังได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความบกพร่องทางพัฒนาการ เพื่อเสริมศักยภาพให้พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข เมื่อลองนึกตัวอย่างพัฒนาการของน้อง ๆ หรือลูกหลานที่เราอาจเคยเห็นและเป็นกังวล เช่น ขาดทักษะในการทำกิจกรรม สมาธิสั้น รู้สึกท้อแท้ง่าย อารมณ์รุนแรง หรือเอาแต่ใจ สิ่งเหล่านี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัว ทำให้เด็กถูกมองว่าเป็น “เด็กไม่เก่ง” “เกียจคร้าน” หรือ “ไม่น่ารัก” ทั้งที่จริง ๆ อาจเกิดจากความบกพร่องทาง “กายภาพ” ของสมอง ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดูที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (learning disabilities: LD) ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียน หรือการคำนวณล่าช้า ถ้าเราไม่เข้าใจว่าลักษณะเช่นนี้แก้ไขได้และปล่อยไว้นานไป ปัญหาก็จะหยั่งลึกจนถึงวันที่พวกเขาเติบโตผู้ใหญ่ ทำให้แก้ไขได้ยาก ภายในเล่มนายแพทย์คะโตะ โทะชิโนะริ พยายามเน้นย้ำหลักคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ “ยิ่งใช้ สมองก็ยิ่งพัฒนา” โดยมีผลศึกษาวิจัยภาพถ่ายสมองด้วยเครื่อง MRI เป็นเครื่องพิสูจน์ ผลวิเคราะห์นี้เองทำให้เขาแยกกลุ่มเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ต่างกันไว้และเรียกมันว่า “รหัสสมอง” แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 8 กลุ่ม ได้แก่ รหัสสมองด้านความคิด รหัสสมองด้านอารมณ์ รหัสสมองด้านการสื่อสาร รหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว รหัสสมองด้านการจดจำ รหัสสมองด้านความเข้าใจ รหัสสมองด้านการได้ยิน และรหัสสมองด้านการมองเห็น ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของรหัสสมองด้านต่าง ๆ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของความบกพร่อง และแนวทางปฏิบัติตัวกับเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองทำได้ที่บ้าน เพื่อช่วยบำบัดอาการผิดปกติและเสริมผลของการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางให้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น สิ่งที่ไม่ควรกระทำเพราะอาจกระทบต่อพัฒนาการของสมอง อย่างการพูดไปตามอารมณ์ของผู้ปกครองจะมีผลกระทบต่อรหัสสมองด้านการจดจำของลูก เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าเวลาทำอะไรบางอย่างอยู่แล้วพ่อแม่ไม่ดุเขา แต่พอพ่อแม่อารมณ์ไม่ดีกลับดุเขาเสียอย่างนั้น เด็กจึงสับสนในกฎเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน อีกตัวอย่างคือ การบ่นพึมพำหรือตวาดเสียงดังด้วยความหงุดหงิด พฤติกรรมนี้ส่งผลต่อรหัสสมองด้านอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาแสดงอารมณ์ไม่เก่ง หากพ่อแม่แสดงอารมณ์รุนแรงใส่ก็ยิ่งทำให้ความบกพร่องนั้นรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก เราไม่ควรโต้ตอบกับพวกเขาเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้รหัสสมองของเด็กหยุดทำงาน เนื่องจากรหัสสมองด้านความเข้าใจของเด็กทำงานช้ากว่าผู้ใหญ่ ถ้าพ่อแม่พูดโต้ตอบลูกทันที อาจตัดโอกาสที่เขาจะได้ใช้รหัสสมองทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ท้ายเล่มคุณหมอยังรวบรวมกิจกรรมช่วยฝึกรหัสสมองด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจวัตรให้เด็ก ๆ ฝึกทำทุกวัน หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น พ่อแม่ถามลูกว่า คาบที่ 5 ของหนูวันนี้เรียนวิชาอะไรเอ่ย แล้วถามต่อว่าคาบที่ 4 ล่ะ หากเด็กจำได้ดีจึงถามเพิ่มว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นนะ การถามย้อนเวลาในแต่ละวันช่วยให้รหัสสมองด้านการจดจำของเด็กพัฒนา กิจกรรมที่แนะนำไว้เหล่านี้มีเทคนิคประยุกต์ให้ยากหรือง่ายตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคนด้วย และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ทั้งหมดเป็นกิจกรรมสนุก ๆ เพราะความสนุกคือหัวใจของการพัฒนารหัสสมองเด็ก ตัวอย่างที่ยกมานี้ถือว่าเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ที่แสดงให้เห็นว่าความรู้ด้าน Cognitive Science ช่วยให้เราเข้าใจพัฒนาการของสมองเด็กดีขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องให้สอดคล้องกับพัฒนาการของพวกเขา ยิ่งในช่วงเวลาที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นนี้ เรามั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นผู้ช่วยที่ยอดเยี่ยมของพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างแน่นอน เพราะนอกจากทำให้เราเข้าใจบุตรหลานแล้ว ยังมีไอเดียดี ๆ กิจกรรมเพลิดเพลินไว้ให้นำไปใช้เชื่อมปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ