“ไทยชนะ”จำลองสถานการณ์ 1 เบอร์เช็คอิน/เช็คเอาท์ ช่วยลดความเสี่ยงแพร่กระจายหลักร้อยคน

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 12, 2020 08:46 —ThaiPR.net

“ไทยชนะ”จำลองสถานการณ์ 1 เบอร์เช็คอิน/เช็คเอาท์ ช่วยลดความเสี่ยงแพร่กระจายหลักร้อยคน กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “ไทยชนะ” จำลองสถานการณ์จริงของการใช้ชีวิตปกติวิถีใหม่ พบช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคได้หลายร้อยคนได้อย่างรวดเร็ว จากการเช็คอิน/เช็คเอาท์แค่ 1 หมายเลขโทรศัพท์ ย้ำเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยไม่ให้การ์ดตก ป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีนโยบายผลักดันเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ที่ต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคล ในการจัดทำ “ไทยชนะ”เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดลอกที่ 2 ซึ่งการทำงานของแพลตฟอร์มไทยชนะ และแอปไทยชนะ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องนี้ เนื่องจากการทำงานของ “ไทยชนะ” เป็นไปเพื่อในการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคกระทำได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยเมื่อมีผู้ที่ติดเชื้อ สามารถไปตรวจสอบ ว่าใครมีความเสี่ยงที่ต้องเข้าข่ายการสืบสวนโรคบ้าง จากข้อมูลการเช็คอิน/เช็คเอาท์ อีกทั้ง ช่วยจำกัดเป้าหมายที่ต้องถูกสอบสวนโรคให้แคบลง ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ล่าสุด ได้มีการจำลองรูปแบบการทำงานของระบบไทยชนะ จากสถานการณ์จริงของวิถีชีวิตประจำวันของอาสาสมัคร 1 รายที่เซ็นยินยอมให้นำข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์เข้าไปใส่ไว้บนแพลตฟอร์มไทยชนะ เพื่อให้ระบบทำการ detect ข้อมูลว่าไปอยู่ในพื้นที่ใด มีจำนวนผู้อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้นเท่าไรในระยะเวลาช่วงนั้น และใช้ข้อมูลเพื่อจำลองสถานการณ์โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 จากผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เป็นพาหะเพียง 1 ราย “เรามีเชื้ออยู่ 1 คน แต่เราไม่รู้ตัวว่าไปสัมผัสกับใครบ้างในแต่ละวัน สังเกตได้จากเมื่อถูกสอบสวนโรค คนที่ติดเชื้อหรือเป็นพาหะ จะจำได้เฉพาะคนรู้จัก หรือคนที่อยู่ในเครื่องแบบ เช่น ตำรวจ รปภ. พนักงานห้าง แต่ไม่รู้จักว่าเป็นใคร ระบบของไทยชนะ ออกมาเพื่อตรงนี้” นพ.พลวรรธน์กล่าว โดยอาสาสมัครรายนี้ ทำงานอยู่ในอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ได้สแกน QR ไทยชนะเช็คอินเข้าห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน ระหว่างนั้นมีคนที่อยู่บริเวณเดียวกัน 149 คน ช่วงบ่ายสแกนเข้าห้องทำงานที่อยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานนั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน 10 คน แม้ว่าการจำลองสถานการณ์วันแรกนี้ อาสาสมัครจะลืมเช็คเอาท์ตอนออกจากอาคาร แต่ก็ประมวลตัวเลขจำนวนผู้ที่เสี่ยงสัมผัสกับบุคคลนี้ว่ามีถึง 159 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีการเช็คเอาท์ ก็จะขาดข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการจัดทำข้อสรุปผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น ในวันต่อมาจึงมีการจำลองสถานการณ์ซ้ำ มีการเช็คอินเข้าห้างในช่วงเช้า ระหว่างนั้นเสี่ยงสัมผัสกับคนอื่นอีก 66 คน เมื่อลงไปห้องทำงาน มีเพื่อนร่วมงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน 77 คน จากนั้นลงมาทานอาหารเที่ยงที่บริเวณห้างสรรพสินค้า มีคนอยู่ในพื้นที่นั้น 144 คน และเมื่อเช็คอินที่ร้านก๋วยเตี๋ยว มีลูกค้าอยู่ในร้าน 39 คน ทั้งๆที่ขนาดของร้านรองรับลูกค้าพร้อมกันได้ไม่เกิน 10 คน สะท้อนว่ามีการลืมเช็คเอาท์ และเย็นวันนั้นเมื่ออาสาสมัครเช็คเอาท์ระบบไทยชนะ มีคนอยู่ในบริเวณนั้น 23 คน นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์จำลองนี้ พบว่ามีจำนวนผู้เสี่ยงจากการสัมผัส ถ้ามีการถูกเรียกมาสอบสวนโรค ตามมาตรฐานกรมควบคุมโรค จะมีถึง 508 คน และกล่าวได้ว่าถ้าการทำงานของระบบไม่ครบกระบวนการ เพราะมีการลืมเช็คเอาท์ ก็จะทำให้ระบบไม่สามารถประมวลผลลัพธ์สุดท้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ “อยากฝากบอกว่า เมื่อมีแอปไทยชนะขึ้นมาแล้ว เพื่อช่วยแก้ปัญหาการลืมเช็คเอาท์ แม้ปัจจุบันจะยังใช้งานได้แค่บนมือถือแอนดรอยด์ เพราะในส่วนของ iOS จะเร็ววันนี้ เนื่องจากมีกระบวนการอนุมัติของเจ้าของระบบ คนไทยทุกคนไม่ควรลืมเช็คเอาท์กันตามวิถีใหม่ ระบบไทยชนะ เป็นเครื่องมือช่วยให้คนไทยช่วยกันป้องกันทั้งตัวเอง และคนที่รัก รวมถึงห่วงใยต่อสังคม เพื่อก้าวไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯระยะ 4 และจนถึงวันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในที่สุด” นพ.พลวรรธน์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ