กสร. เดินหน้าประชาพิจารณ์ ร่างกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน

ข่าวทั่วไป Monday June 22, 2020 11:27 —ThaiPR.net

กสร. เดินหน้าประชาพิจารณ์ ร่างกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รับฟังความเห็นจากผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้างและผู้เกี่ยวข้อง มุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกจ้าง นางอุดมลักษณ์ สอนสารี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนากฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” รุ่นที่ 1 ณ โรงแรมฟูราม่า เอ็กซ์คลูทีฟ สาทร กรุงเทพฯ ว่า เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ในการคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วยหรือผู้รับใช้ในบ้าน ซึ่งก็คือกฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 กฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดความคุ้มครองลูกจ้างให้มีความแตกต่างจากการจ้างงานทั่วไป โดยไม่ได้นำบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาใช้บังคับ ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านตามกฎกระทรวงนี้จึงได้รับการคุ้มครองเพียงบางเรื่อง เช่น วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันลาป่วย สิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดวันลา เป็นต้น ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวได้มีบังคับใช้เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี บทบัญญัติบางประการจึงไม่สอดคล้องกับ สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กสร. จึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ขึ้น รวมทั้งได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 3 ครั้ง โดยดำเนินการครั้งแรกในวันนี้ (21 มิถุนายน 2563) ครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และครั้งสุดท้ายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 นางอุดมลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไขในร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ได้แก่ การกำหนดห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การกำหนดสิทธิลาคลอดของลูกจ้างหญิง การกำหนดให้นายจ้างที่มีการจ้างเด็กอายุ 15 ถึง 18 ปี เข้าทำงานต้องแจ้งการจ้างกับพนักงานตรวจแรงงาน เป็นต้น ทั้งนี้ ความคิดเห็นที่ได้จากภาคส่วนต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่จะใช้ในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ