เชิญชมการแข่งขัน “โต้วาทะเว้นระยะทางสังคม”ของนิสิต จุฬาฯ รอบชิงชนะเลิศในงาน Chula Safety 2020

ข่าวทั่วไป Friday August 7, 2020 11:16 —ThaiPR.net

เชิญชมการแข่งขัน “โต้วาทะเว้นระยะทางสังคม”ของนิสิต จุฬาฯ  รอบชิงชนะเลิศในงาน Chula Safety 2020 กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแข่งขัน “โต้วาทะเว้นระยะทางสังคม” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่แสดงถึงความสามารถในการโต้วาทีของนิสิตจุฬาฯ ซึ่งชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ (SHECU) จัดการแข่งขันทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing จากสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันเดินทางมาถึงโค้งสุดท้าย โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะจัดขึ้นในงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2020 : New Normal สู่วัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ในวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 ทางเพจของชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ และ SHECU การแข่งขันโต้วาทีออนไลน์ในครั้งนี้มีที่มาและความพิเศษอย่างไร ต้นนัน ซง นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ประธานชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า การแข่งขันโต้วาทีรายการนี้จัดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดงานให้เป็น New Normal ด้วยการจัดการแข่งขันโต้วาทีแบบออนไลน์ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดมาก่อน กิจกรรมนี้เป็นโอกาสให้สมาชิกในชมรมได้ทำกิจกรรมโต้วาทีร่วมกันอีกครั้ง ประกอบกับทาง SHECU ต้องการสร้างการรับรู้ให้นิสิตจุฬาฯ ในเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน จึงเกิดเป็นการโต้วาทีที่เป็น Chula Debate from Home สำหรับญัตติในการแข่งขันจะเป็นประเด็นทางสังคมที่กำลังมีความสำคัญอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัย เป็นญัตติที่สามารถโต้วาทีได้อย่างสนุกสนาน มีประเด็นให้ถกเถียงกันได้อย่างเปิดกว้าง ปัญหาหลักคือเรื่องระบบเสียง เนื่องจากต้องทำให้ทั้งฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านได้ยินสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดได้อย่างชัดเจน ไม่ติดขัด โดยมีการปรับกติกาการแข่งขันให้มีความเหมาะสมกับการโต้วาทีแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เช่น ลดระยะเวลาที่ใช้ในการโต้วาทีของหัวหน้าฝ่ายและผู้สนับสนุนแต่ละฝ่าย มีการปิดไมโครโฟนทันทีเมื่อครบเวลา เพื่อให้ผู้โต้วาทีมีสมาธิมากขึ้น ประธานชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ จุฬาฯ เผยถึงประสบการณ์ที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม ต้องมีการประสานงานกับคนจำนวนมาก ซึ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเจอหน้ากันได้เหมือนช่วงเวลาปกติ ดังนั้นทุกคนจะต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้การแข่งขันดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งอาจเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงขึ้นได้ “การโต้วาทีเป็นการหยิบยกประเด็นต่างๆ มาโต้แย้งกันบนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เราสามารถยกเหตุผลและข้อเท็จจริงขึ้นมาโต้แย้งแนวคิดที่ต่างกันโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องมีความขัดแย้งกัน ทำให้เกิดการตกผลึกองค์ความรู้ใหม่หรือความเข้าใจที่ดีขึ้น เป็นการเปิดมุมมองความคิดให้กว้างขึ้น ทำให้เราเข้าใจความคิดของคนอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม และอยู่ร่วมกับคนที่มีความเห็นต่างกันได้ การสนับสนุนให้มีการเปิดเผยมุมมองความคิดอย่างสร้างสรรค์จะเป็นการพัฒนาสังคมในรูปแบบประชาธิปไตยที่ดีครับ” ต้นนัน กล่าว ติดตามชมการแข่งขันโต้วาทะเว้นระยะทางสังคมรอบชิงชนะเลิศ ระหว่างทีม “ลงโต้ไม่ลงใจ” และทีม”Power Puff Girls” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2020 ในวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 12.30 – 14.15 น. รับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook จุฬาฯ ชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ และ SHECU นอกจากนี้ยังสามารถรับชมการโต้วาทีในรอบต่างๆ ย้อนหลังได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ