สอวช. ชูศักยภาพ “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิภาค” กลไกขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้ และทรัพยากรด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2020 09:05 —ThaiPR.net

สอวช. ชูศักยภาพ “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิภาค” กลไกขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้ และทรัพยากรด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สอวช. เวที Recovery Forum ที่จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สัปดาห์นี้ ชูเรื่อง อุทยานวิทยาศาสตร์ กลไกพัฒนาประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) อย่างยั่งยืน ผ่านการบรรยายแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "Regional Science Parks: An Engine for Sustainable Growth in the Post-Pandemic Era" โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาบรรยาย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ แลกเปลี่ยนว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิภาคเป็นเสมือนหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วย อววน. อย่างยั่งยืน โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ดำเนินการโดยภาครัฐ และอุทยานวิทยาศาสตร์ดำเนินการโดยภาคเอกชน โดยจะไม่ทำงานเพียงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เน้นงานวิจัยที่หลากหลาย ผลักดันให้เกิดโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม การประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพ พัฒนาไปสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ในหลายโครงการ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเองส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยและตั้งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยและใช้ทรัพยากร องค์ความรู้ของบุคลากรในมหาวิทยาลัยนั้นๆ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความเชี่ยวชาญและความถนัดที่แตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเกิดการทำงานร่วมกันของอุทยานวิทยาศาสตร์ในแต่ละมหาวิทยาลัยแบบบูรณาการ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ร่วมในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งหมด 44 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 แห่ง ภาคใต้ 10 แห่ง อีสานตอนบน 9 แห่ง อีสานตอนล่าง 9 แห่ง และภาคกลางอีก 2 แห่ง “ภารกิจที่ท้าทายของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย คือ การนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย นักวิจัย หรืออุปกรณ์เครื่องมือในมหาวิทยาลัย มาเชื่อมโยงและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เกิดการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพ ผ่านการช่วยดูแลการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยร่วม รวมถึงผลักดันให้เกิดสตาร์อัพจากงานวิจัย ซึ่งความท้าทายเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และเกิดเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยในปัจจุบันจากการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการตั้ง NSP INNO STORE เป็นพื้นที่ทดสอบตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาและบริการของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ได้มีการนำเอาองค์ความรู้ และทรัพยากรในมหาวิทยาลัยมาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม และสร้างสตาร์ทอัพขึ้นมากมาย เช่น การแปรรูปลำไย การแปรรูปฟางข้าว รวมถึงการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มบริการออนไลน์ เป็นต้น” ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าว นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้จัดทำ 5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เร่งการฟื้นตัวและเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่ ประกอบด้วย 1. โปรแกรม มช.อาสา Plug & Play คนรุ่นใหม่พัฒนาชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกับชุมชน สร้างทั้งรายได้และประสบการณ์ให้นักศึกษา 2. โปรแกรมเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานกับ มช. สร้างการเรียนรู้ผ่านการทำงาน ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ 3. สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ มช. บ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการผ่านการให้การสนับสนุนทรัพยากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ 4. องค์ความรู้ มช. เพื่อทุกคน ถ่ายทอดองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีเพื่อสร้างเกษตรกรยุคใหม่ และ 5. เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยโรงงานต้นแบบ มช. ทั้งโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร และโรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การเกิดขึ้นของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี แต่สามารถสร้างผลงานโดยใช้องค์ความรู้และทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ผลสำเร็จขนาดนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยมองว่าส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จคือการมีทีมที่แข็งแกร่งและการมีระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการทำงานในพื้นที่ ซึ่งตนเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารงานอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องนำมาคิดต่อคือยังมีประเด็นอะไรที่ยังเป็นอุปสรรคที่จะสามารถช่วยปลดล็อกให้การทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป นอกจากนี้ สอวช. ยังมองถึงการนำศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ มาเป็นกลไกที่จะช่วยสร้างให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เชิงนวัตกรรมในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พร้อมเล็งตั้งทีมร่วมกับแต่ละภูมิภาคเพื่อหารือผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น …//

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ