ร.พ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นำร่องนโยบาย 5G แห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday August 27, 2020 12:02 —ThaiPR.net

ร.พ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล นำร่องนโยบาย 5G แห่งชาติ กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล วิกฤติ Covid-19 ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งอาจเกิดการผันผวนได้อยู่ตลอดเวลา โดยการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบ 5G ที่กำลังจะเปิดใช้ในประเทศไทยเร็วๆ นี้ โดยโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยนำร่องนโยบายการใช้ 5G แห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักอยู่ 3 ประการ คือ การบริการผู้ป่วย การศึกษา และการวิจัย โดยร้อยละ 85 ของรายได้ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาจากการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งหากรายรับในส่วนดังกล่าวประสบปัญหา จะส่งผลกระทบถึงการศึกษา และการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตามไปด้วย เราจึงจำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถบริหารจัดการพันธกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชได้มีการริเริ่มแอปพลิเคชัน Siriraj Connect เพื่อรองรับการบริการผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวก ตั้งแต่เรื่องการตรวจสอบและยืนยันสิทธิ ส่งเอกสารรับรองสิทธิ ชำระเงิน ทำบัตรผู้ป่วยใหม่ เลื่อนนัดผู้ป่วย ปรับปรุงข้อมูลผู้ป่วย พบแพทย์ออนไลน์ บริการส่งยาทางไปรษณีย์ ติดต่อบริจาค รวมทั้งสามารถชมคลิปรายการ "พบหมอศิริราช" ตลอดจนค้นหาเส้นทางไปยังสถานที่ตรวจผ่านระบบ GPS ในแอปพลิเคชัน Siriraj Connect "เรื่องคุณภาพเป็นเรื่องที่เราเน้นมากที่สุด เมื่อ 5G เข้ามา เราจะไม่ได้ทำเพื่อศิริราชเท่านั้น แต่เราจะทำให้กับประเทศชาติถึง 9 โครงการ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการยกระดับคุณภาพการบริการให้ดีขึ้น ปลอดภัย รวดเร็ว สะดวกสบายยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถพร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดการระบาดที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ โดยจะมีการใช้ประโยชน์จาก AI หรือ "ปัญญาประดิษฐ์" มาช่วยในการรักษา และมีการต่อยอดเพื่อใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่พื้นที่ห่างไกล รวมทั้งสร้างนวัตกรรมขึ้นเองในอนาคต ซึ่งบางโครงการได้มีการเริ่มดำเนินการ และส่งผลออกมาให้เห็นบ้างแล้ว เพื่อสนองบทบาทในการเป็นที่พึ่งพิงของคนไทยทั้งประเทศ โดยผ่านการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวทิ้งท้าย สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ