PTT Trading จับมือ IBM รุกทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ดึง Automation และ AI เสริมศักยภาพงานปฏิบัติการ ติดสปีดให้ธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2020 11:14 —ThaiPR.net

PTT Trading จับมือ IBM รุกทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ดึง Automation และ AI เสริมศักยภาพงานปฏิบัติการ ติดสปีดให้ธุรกิจ กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ไอบีเอ็ม (NYSE: ไอบีเอ็ม) ได้ออกมาประกาศว่า พีทีที เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจการค้าของกลุ่มบริษัทปตท. หนึ่งในบริษัทน้ำมันและก๊าซครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังร่วมมือกับทีมเซอร์วิสเซสของไอบีเอ็มเพื่อนำเทคโนโลยีออโตเมชันและปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้าเสริมสร้างประสิทธิภาพใหม่ๆ ให้แก่กระบวนการทำงานในส่วนของแบ็คออฟฟิศที่มีภาระงานในลักษณะซ้ำๆ โดยความร่วมมือที่นำโดยพีทีที เทรดดิ้ง ประกอบกับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทปตท. ในการนำเอไอและออโตเมชันมาใช้ในสำนักงานของ พีทีที เทรดดิ้ง ที่กรุงเทพและสิงคโปร์ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆ ของ พีทีที เทรดดิ้ง มีความคล่องตัว รวมทั้งเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย พีทีทีได้เน้นกลยุทธ์ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เพื่อที่จะได้เข้าถึงข้อมูลจากตลาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับไว สนับสนุนความต่อเนื่องทางธุรกิจ และสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่เข้ามา ผ่านสำนักงาน พีทีที เทรดดิ้ง ทั้งห้าแห่งที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางการค้าน้ำมันที่สำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ สิงคโปร์ ลอนดอน อะบูดาบี รวมถึงสำนักงานในสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเปิดทำการในเร็วๆ นี้ บริษัทได้ตระหนักถึงความซับซ้อนของการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่มีความผันผวนสูงในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี การปรับปรุงกระบวนการทำงานโดยนำระบบอัตโนมัติมาใช้ พัฒนาแพลตฟอร์มควบคุมความเสี่ยง รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่คล่องตัวและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านการเงินของ พีทีที เทรดดิ้ง ตั้งแต่การทำข้อตกลงทางการค้าไปจนถึงการเรียกเก็บเงินบัญชีลูกหนี้การค้าและการชำระเงินบัญชีเจ้าหนี้การค้า เป็นกระบวนการทำงานที่ใช้เวลามากและดำเนินการด้วยตนเอง โดยในการทำงานร่วมกับไอบีเอ็มการาจเพื่อค้นหากระบวนการทำงานที่จะนำมาปรับปรุง (process discovery) นั้น พีทีที เทรดดิ้ง พบว่ามีกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเงินหลายกระบวนการที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง “ภายใต้พันธกิจในการขยายธุรกิจการค้าไปสู่ตลาดสากล ด้วยความเป็นเลิศ ในด้านการค้า ด้านการปฏิบัติงานและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคา รวมถึงการเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อดึงศักยภาพของข้อมูล การพัฒนากระบวนการส่งผ่านข้อมูลให้มีความฉลาดมากยิ่งขึ้น และทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานของเรามีความคล่องตัว สิ่งเหล่านี้คือ หัวใจสำคัญทางธุรกิจของเรา” นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าว “การปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบไอทีเพื่อให้เรามีความคล่องตัว ยืดหยุ่นและมีความต่อเนื่องทางธุรกิจ และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจและเศรษฐกิจในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงเพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจของเราในวันนี้” ผลจากการทำงานร่วมกับไอบีเอ็ม เซอร์วิสเซส เพื่อนำโรโบติกโพรเซสออโตเมชัน (Robotic Process Automation หรือ RPA) มาใช้ ทำให้ปัจจุบันซอฟต์แวร์บ็อต (Software bots) สามารถช่วยพนักงานบริหารจัดการงานที่หลากหลาย โดยงานเหล่านี้จะมีลักษณะงานที่ทำซ้ำๆ มีเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ชัดเจน ข้อมูลมีรูปแบบแน่นอน (Structured data) และมีปริมาณมาก นอกจากนี้ยังได้มีการผนวกเอาอนาไลติกส์ (Analytics) แมชชีนเลิร์นนิง (Machine learning) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีการแปลงไฟล์ภาพเอกสารให้เป็นข้อความ (Optical Character Recognition หรือ OCR) ลงในระบบ เพื่อลดความซับซ้อน ปรับปรุงประสิทธิภาพ และทำให้กระบวนการทางธุรกิจและการทำงานเป็นไปโดยอัตโนมัติแบบครบวงจรทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง “ในขณะที่บริษัทหลายแห่งยังคงอยู่ในช่วงของการทดลองระบบออโตเมชันและเอไออยู่นั้น วันนี้ พีทีที เทรดดิ้ง ได้เริ่มนำแนวทางนี้มาใช้ในองค์กรอย่างจริงจังแล้ว เพื่อจัดการกับความท้าทายและเร่งเดินหน้าในเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันต่อไป” นายสวัสดิ์ อัศดารณ พาร์ทเนอร์และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจโกลบอล บิสซิเนส เซอร์วิสเซส ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าว “ความสามารถในการประมวลผลและจัดการกับข้อมูลอย่างชาญฉลาด จะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในการแข่งขันท่ามกลางความผันผวนของธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ ไอบีเอ็มมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอและออโตเมชันมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของพีทีที เทรดดิ้ง อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากร ทำให้สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการดำเนินงานของระบบแบ็คเอนด์ให้ดียิ่งขึ้น” หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบในเฟสแรก เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการจัดการกับการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้าลดลงจาก 27,913 นาที เหลือเพียง 6,898 นาทีภายในระยะเวลาหกสัปดาห์ โดยพีทีที เทรดดิ้ง คาดหวังว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 16.6 ล้านบาทภายในระยะเวลาสามปี ออโตเมชันได้กลายเป็นหนึ่งในระบบงานที่มีความสำคัญสูงสุดสองอันดับแรกขององค์กรทั่วโลก โดยจากข้อมูลของฟอร์เรสเตอร์ คอนซัลติ้งนั้น ตลาดโรโบติกโพรเซสออโตเมชันจะมีมูลค่าสูงถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 [2] และจะมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่มองถึงการนำระบบออโตเมชันที่ผนวกความสามารถของเอไอมาใช้ รวมถึงพยายามสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อรับมือกับสนามแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ