องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมอบรมให้ความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้า

ข่าวทั่วไป Friday November 13, 2020 11:23 —ThaiPR.net

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมอบรมให้ความรู้เรื่องพิษสุนัขบ้า

เมื่อเร็วๆนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระราชปณิธานศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พ.ศ.2560-2563 ด้วยการร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในการร่วมบรรยาย เพื่อสร้างอาสาสมัครปศุสัตว์รุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมมอบคู่มือการฝึกอบรมขึ้น ณ ห้องประชุมโรงเรียนนีรชาศึกษา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน กิจกรรมนี้ริเริ่มและดำเนินการโดยสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเพพมหานคร ร่วมกับ นายสัตวแพทย์อนันต์ ฤกษ์ดี นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ รักษาราชการแทนปศุสัตว์พื้นที่ 3 ได้จัดอบรมอาสาปศุสัตว์ โรคพิษสุนัขบ้า

สัตวแพทย์หญิงชนัดดา เครือประดับ ผู้ประสานงานโครงการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยาย กล่าวว่า "โรคพิษสุนัขบ้า เป็นหนึ่งในโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 59,000 คนทั่วโลก และต้องจบชีวิตลงด้วยโรคนี้ทั้งๆที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการป้องกันโรค สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำวัคซีนและทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยง ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้องค์กรฯยังมีแผนจะมอบวัคซีนเพื่อสมทบให้กับกรมปศุสัตว์ในโอกาสต่อไปอีกด้วย"

แนวโน้มของสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถึง 10 คน โดยมีปี 2559 มีผู้เสียชีวิตมากถึงจำนวน 14 คน แต่จากการมุ่งแก้ปัญหาผ่านการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อาทิ กรมปศุสัตว์ ช่วงปี 2560-2562 ทำให้พบผู้ป่วยจำนวนปีละ 3 คน แสดงให้เห็นว่ามีการควบคุมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงกระนั้นตัวเลขของผู้ป่วยในแต่ละปียังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีหนึ่งในสาเหตุหลักคือ คนไทยทั่วประเทศส่วนหนึ่งยังขาดความรู้และตระหนักในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและการป้องกันอย่างถูกต้องโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

ที่ผ่านมาทางองค์กรฯ ได้ทำงานภายใต้โครงการ Life's better with dogs ซึ่งใช้แนวทาง "ด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และให้การสนับสนุนแนวปฏิบัติที่เรียกว่า CNVR ได้แก่ Catch คือ การจับสุนัขและแมว N คือ Neuter การทำหมัน V คือ Vaccinate การฉีดวัคซีน และ R คือ Return การนำกลับไปที่เดิม สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีควบคุมจำนวนประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมและยั่งยืน อีกทั้งการมอบความรู้และการสร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์และการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีความรับผิดชอบ เพราะในทุกชุมชนคนและสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การดูแลให้สัตว์มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เปรียบเสมือนการดูแลให้คนเรามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ Life's Better With Dogs 1 รายชื่อ 1 วัคซีน ได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/BetterWithDogs ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการมอบวัคซีน 11,500 เข็มให้กับกรมปศุสัตว์เพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดทั่วประเทศ รวมถึงจัดทำคู่มือการฝึกอบรมอาสาสมัครปศุสัตว์อีกเป็นจำนวน 10,000 เล่ม ในการสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมในการดูแลสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบอีกด้วย

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์กรสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้กับสัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน-สุนัข, สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ