โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง ศูนย์กลางสร้างอาชีพ แหล่งเรียนรู้เกษตรตามพระราชดำริ

ข่าวทั่วไป Friday December 25, 2020 10:54 —ThaiPR.net

โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง ศูนย์กลางสร้างอาชีพ แหล่งเรียนรู้เกษตรตามพระราชดำริ

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการดังกล่าว ก่อตั้งจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดระยองเป็นสภาพป่าที่ถูกทำลาย ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร และประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ รายได้ของเกษตรกรลดลง เพราะขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำ ประกอบกับถูกอิทธิพลของนายทุนขยายเขตการเป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประมาณ 1,300 ไร่ เพื่อส่งน้ำมายังพื้นที่ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร มีที่ตั้งศูนย์ฯ อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย เป้าหมายจำนวน 35 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในอำเภอปลวกแดง และนิคมพัฒนา จังหวัดระยองรวมถึงพื้นที่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการดำเนินโครงการ

ปีงบประมาณ 2563 กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านข้าว การผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ การปลูกอ้อยคั้นน้ำเสริมรายได้ และการผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่ง สศก. ได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้และผ่านการอบรมตลอดหลักสูตรจำนวน 206 ราย คิดเป็นร้อยละ 121 ของเป้าหมาย 170 ราย ซึ่งเกษตรกรที่ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชให้ดีขึ้น เป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำเกษตรกรรมยั่งยืน และรวมกลุ่มในการจำหน่ายสินค้า โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรม ยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่นต่อไป เช่น การผลิตพืชอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก การทำนา การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่นำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อลดการใช้สารเคมีและผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง สามารถลดต้นทุนทางการเกษตรได้เฉลี่ยรายละ 8,900 บาทต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง หรือไม่สามารถทำการเกษตรได้

ทั้งนี้ ภาครัฐโดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง จะเร่งจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มที่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ