PM 2.5กับสุขภาพที่ต้องดูแล

ข่าวทั่วไป Monday January 25, 2021 08:50 —ThaiPR.net

PM 2.5กับสุขภาพที่ต้องดูแล

ฝุ่น PM 2.5 คือคำว่า PM (พีเอ็ม) ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีหน่วยวัดคือ ไมครอน หรือไมโครเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 โดยฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ ฝุ่น PM 2.5แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาลจะมองเห็นเป็นหมอกควัน และสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ จนส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

ที่มาของฝุ่น PM 2.5 โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ ฝุ่นจากการก่อสร้าง

ผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 ไม่มีกลิ่น มีขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมปอดเข้าไปในเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายได้ ฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดรอดเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระรบกวนสมดุลต่างๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย และส่งผลกระทบต่างๆ ตามมาเช่นกระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ  โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้

ข้อแนะนำและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5

พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเมื่ออยู่ข้างนอกอาคาร สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพคือ หน้ากาก N95 ซึ่งมีราคาสูงกว่าหน้ากากอนามัย และบางคนอาจสวมแล้วอาจให้ความรู้สึกอึดอัด เพราะหายใจได้ลำบากกว่าปกติ ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ที่ฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย

หากไม่ใช้หน้ากาก N95 อาจใช้หน้ากากอนามัยที่มีฟิลเตอร์ 3 ชั้น ซึ่งมักมีเขียนระบุบนผลิตภัณฑ์ว่าสามารถป้องกัน PM2.5 ได้ หรือถ้าหากหาไม่ได้จริงๆ อาจใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาแต่สวมทับ 2 ชั้น หรือซ้อนผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูไว้ด้านในก็ได้

หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม การเผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ที่ฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย

ตรวจสอบค่าปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 ได้ที่ไหน

สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าเวลาไหนที่คุณภาพอากาศเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถตรวจเช็คดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ(http://air4thai.pcd.go.th/webV2/index.php)  

ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ประเทศไทยมักถูกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยการจัดอันดับตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (US AQI) ซึ่งสามารถดูข้อมูลนี้ได้จากแอปพลิเคชัน Air Visual (https://www.airvisual.com/th/) ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนออกจากบ้านในการรับมือกับปริมาณฝุ่น PM 2.5

การตรวจวัดค่า ฝุ่น PM 2.5

๐วิธีแบบกราวิเมตริก (Gravimetric) โดย การวัดค่าฝุ่นละอองโดยดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน(Micron) ได้ร้อยละ 99 แล้วหาน้ำหนักฝุ่นละอองจากแผ่นกรองนั้นในหน่วยน้ำหนักฝุ่นต่อปริมาตร ซึ่งเครื่องมือที่เกี่ยวข้องคือเครื่องชั่ง อุปกรณ์ปรับเทียบอัตราการไหลของอากาศ อุปกรณ์ปรับเทียบน้ำหนักหรือความเข้มข้น (Calibration kit) ซึ่งต้องได้รับการสอบเทียบเรียบร้อย

วิธีแบบอินฟราเรด ทำงานโดยให้อากาศไหลผ่านท่อที่มีปลายด้านหนึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงอินฟราเรด ปลายอีกด้านหนึ่งเป็นเซ็นเซอร์ เมื่อฝุ่นเคลื่อนผ่านลำแสงก็จะปิดกั้นแสงตรงนั้นๆให้จางลง ตัวเซ็นเซอร์ก็จะตรวจพบการจางลงของแสง ณ ฉากรับ ทำให้นับจำนวนจุดที่แสงจางลงได้ว่าเป็นปริมาณฝุ่นเท่าใด ข้อดีคือมีราคาไม่แพงแต่ข้อเสียคือเครื่อวัดชนิดนี้แยกความแตกต่างของฝุ่นที่จับตัวกันไม่ได้

วิธีแบบ Beta Attenuation Mass Monitoring ทำงานโดยให้อากาศไหลผ่านแผ่นกรอง ฝุ่นที่ติดมากับอากาศก็จะถูกแผ่นกรองจับเอาไว้ จากนั้นก็ฉายรังสีเบตาไปที่แผ่นกรอง ฝุ่น PM2.5 บนแผ่นกรองจะดูดซับรังสีเบตาไว้ทำให้เครื่องอ่านอีกด้านหนึ่งของแผ่นกรองรับรู้ได้ จากนั้นก็ใช้ระบบคำนวนปริมาณฝุ่นออกมา ข้อดีคือสามารถแยกแยะได้ว่าฝุ่นทีติดเครื่องกรองเป็นฝุ่นชนิดไหนขนาดเท่าใดความหนาแน่นเท่าใด ดีกว่าแบบอินฟราเรดมาก

วิธีแบบแสงเลเซอร์ ทำงานโดยให้อากาศไหลผ่านท่อที่กำหนดปริมาณอากาศโดยพัดลมดูดจากปลายอีกด้าน แล้วยิงแสงเลเซอร์ในแนวตั้งฉาก จากนั้น Photometer จะตรวจจับการกระเจิงแสง วิธีนี้ทำให้สามารถวัดฝุ่นได้ดีไม่ต่างจากชนิด Beta Attenuation Mass Monitoring  ข้อดีคือมีขนาดเล็กกว่ามากจนถือไปไหนมาไหนได้ และไม่ต้องคอยเปลี่ยนแผ่นกรองให้สิ้นเปลือง

ทั้งนี้การตรวจวัดต้องมีการสอบเทียบเครื่องมือวัด และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เช่นวิธี Gravimetric ต้องใช้เครื่องชั่งที่ได้รับการสอบเทียบและอยู่ในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นตามวิธีที่กำหนด อุปกรณ์ปรับเทียบอัตราการไหลของอากาศ อุปกรณ์ปรับเทียบน้ำหนัก วิธี Beta Attenuation Mass Monitoring ต้องมีแผ่นความเข้มข้นฝุ่นมาตรฐานไว้ปรับค่าเครื่องมือก่อนการวัดทุกครั้ง เครื่องวัดแบบเลเซอร์และอินฟราเรดต้องมีการสอบเทียบและปรับตั้งค่าก่อนการวัด ทั้งนี้ประเทศไทยต้องมีความพร้อมในการนำระบบ NQI มาปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านการมาตรวิทยา (Metrology)  ด้านการมาตรฐาน (Standardization) ด้านการทดสอบ (Testing) และด้านการรับรองคุณภาพ (Quality Assurance)  เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับชีวิตของประชาชนเช่นปัญหาฝุ่น PM2.5 ในขณะนี้


แท็ก PM 2.5  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ