"SMEs ไทย" อัศวินม้าขาว ปี 63 ท่ามกลางวิกฤตโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2021 13:28 —ThaiPR.net

เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้สรุปภาวะการลงทุนปี 2563 ว่ามีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นคือ ปี 2562 มูลค่าการลงทุนก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน ถ้าไม่นับรวมโครงการที่มีขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ อีอีซีซึ่งยื่นขอรับส่งเสริมเมื่อปี 2562 อย่างไรก็ดี ถึงแม้มูลค่าจะลดลงไปเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และจากการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อดูในแง่จำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 12 โดยมีจำนวน 1,717 โครงการ

ประเด็นน่าสนใจสำหรับภาวะการลงทุนปีที่ผ่านมาคือ กิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ามีการขอรับส่งเสริมจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคือปี 2562 ร้อยละ 20 มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงขึ้นมาก เป็นการเติบโตที่สอดคล้องไปกับมาตรการของบีโอไอที่ให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนที่เป็นกิจการของคนไทยทั้งสิ้น ได้ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีมูลค่าลงทุน 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 และหากจะคิดเป็นสัดส่วนโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวนถึงร้อยละ 42 ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมดตลอดปี 2563 ส่วนด้านมูลค่าลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนไทยและรวมถึง SMEs ไทย คืออัศวินม้าขาวของระบบเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาก็คงจะไม่เป็นคำพูดที่เกินจริงนัก

ที่ผ่านมา บีโอไอได้ออกมาตรการพิเศษให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด รวมทั้งให้ครอบคลุมทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งเราพูดถึงผู้ประกอบการไทยกันมาตลอด วันนี้จึงขอหยิบยกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs มาขยายความให้ฟัง

มาตรการส่งเสริม SMEs ของบีโอไอได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการลงเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) การอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้ จากปกติที่กำหนดให้เป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นกิจการที่คนไทยถือหุ้นข้างมากไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และต้องมีรายได้ของกิจการรวมทั้งที่ได้บีโอไอและไม่ได้บีโอไอไม่เกิน 500 ล้านบาทใน 3 ปีแรก ทั้งนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในกิจการกลุ่ม A ร้อยละ 200 ของเงินลงทุน ได้รับยกเว้นอากรขาเขาเครื่องจักรและวัตถุดิบ เป็นต้น

นอกจากนี้ กิจการ SMEs ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก หากเข้าไปลงทุนในพื้น 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม หรือลงทุนในพื้นที่ SEZ

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะสะดุดจากโควิด-19 การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอาจยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่การเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว ให้ขยายการลงทุนต่อ น่าจะเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเช่นบีโอไอ ผ่านมาตรการใหม่ๆ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ