สหภาพยุโรปเปิดตัวโครงการ IURC เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมือง พร้อมจับมือกับ we!park จัดงานเสวนา New Green Possibilities

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 2021 16:29 —ThaiPR.net

สหภาพยุโรปเปิดตัวโครงการ IURC เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมือง พร้อมจับมือกับ we!park จัดงานเสวนา New Green Possibilities

สหภาพยุโรปร่วมกับ we!park จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า 'New Green Possibilities' เพื่อเป็นการเปิดตัวโครงการ International Urban and Regional Cooperation (IURC) ในประเทศไทย งานเสวนาระดับนานาชาติครั้งนี้ได้รวบรวมกลุ่มคนจากหลายภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง อาทิ เจ้าหน้าที่องค์กรบริหารเมือง นักออกแบบและวางผังเมือง ภูมิสถาปนิก ผู้บริหารและนักพัฒนาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และองค์กรเอกชนขนาดใหญ่อื่นๆ ทั้งที่มาจากกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ในเอเชียและยุโรป เพื่อมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองสีเขียวและพื้นที่สาธารณะ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2021

"เมืองเป็นทั้งพื้นที่แห่งโอกาสและต้นตอของความท้าทายหลายประการ ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก" มิเชล มูชีรูด์ รองหัวหน้าของ FPI Regional Team in Asia Pacific คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าว "จากข้อมูลของสหประชาชาติ ประชากรในโลกกว่าร้อยละ 60 อาศัยอยู่ในเมือง และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวมทั่วโลก ในขณะเดียวกัน เมืองทั้งหลายก็ใช้พลังงานรวมกันคิดเป็นร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานทั่วโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อย 60 ของปริมาณทั้งหมด นอกจากนี้ วิกฤตการณ์โควิดยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยหาทางออกให้กับเมืองต่างๆ ได้ ผมดีใจที่โครงการ IURC จะเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยในช่วงสองปีครึ่งนับจากนี้ โดยจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วางเอาไว้"

กิจกรรมเสวนาออนไลน์ 'New Green Possibilities' จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-30 กรกฎาคม โดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อย่อยดังนี้ 'Policy Talk' กิจกรรมเสวนาในระดับนโยบายที่จะเชิญเจ้าหน้าที่เมืองและนักผังเมืองมาพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ที่แต่ละเมืองมีในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับนโยบายและกลไกในการพัฒนาเมือง 'Platform Talk' กิจกรรมเสวนาในระดับเครือข่ายความร่วมมือที่จะนำเสนอโครงการ หรือเครือข่ายความร่วมมือที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียว รวมถึงวิธีการบริหารจัดการโครงการและเครือข่ายเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 'Design Talk' กิจกรรมเสวนาด้านการออกแบบที่จะนำเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มีนวัตกรรมการออกแบบโดดเด่นจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการขยายเครือข่ายนักออกแบบเมืองทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และสุดท้าย 'Business Talk' กิจกรรมเสวนาในภาคธุรกิจที่จะนำเสนอโครงการจากภาคธุรกิจว่าสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองสีเขียวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกค้าและชาวเมืองได้อย่างไร โดยมุ่งหวังให้บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่เหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น โดยวิทยากรเหล่านี้มาจาก 10 เมืองด้วยกัน ได้แก่ กรุงเทพฯ เซี่ยงไฮ้ โซล บาร์เซโลนา ปีนัง มาดริด มิลาน โรม สิงคโปร์ และฮัมบูร์ก

"ปัญหาเมืองหลายอย่างสามารถบรรเทาได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง" ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้ง we!park กล่าว โดย we!park เป็นหนึ่งในโครงการของบริษัท ฉมา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภูมิสถาปนิกและออกแบบเมืองชั้นนำของประเทศไทย โดยที่ผ่านมา we!park มองว่า "โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว อย่างเช่น สวนสาธารณะ และสวนพืชผัก ที่ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศและเสียง ความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง การขาดความหลากหลายทางชีวภาพ และการขาดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าคุณภาพชีวิตของผู้คนในหลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทำให้แต่ละเมืองเริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ"

กิจกรรมเสวนา 'New Green Possibilities' จะจัดผ่านระบบ Zoom และถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ก City Cracker ซึ่งเป็นเว็บไซต์นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาเมืองของบริษัท ฉมา โดยงานนี้เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับชมผ่านการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางลิ้งค์ที่อยู่นี้ https://bit.ly/NGPForum2021

เกี่ยวกับสหภาพยุโรปสหภาพยุโรป (อียู) เป็นการรวมตัวในลักษณะสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศในทวีปยุโรป มีสมาชิกในปัจจุบันจำนวน 27 ประเทศ โดยประเทศสมาชิกได้ร่วมกันสร้างภูมิภาคที่มีความมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกัน และเคารพเสรีภาพของประชาชน

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมีความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในหลายโครงการ อาทิ งาน Canal Cleanup Day เมื่อปี 2563 ที่มุ่งส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและเศรษฐกิจหมุนเวียนในหมู่คนรุ่นเยาว์ และ EU Urban Heritage ซึ่งเป็นแคมเปญวิดีโอที่นำเสนอการมีส่วนร่วมชุมชนชาวยุโรปในการพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ

https://eeas.europa.eu/delegations/thailand_en

https://www.facebook.com/EUinThailand

เกี่ยวกับ IURCโครงการ International Urban and Regional Cooperation หรือ IURC เป็นโครงการของสหภาพยุโรป โดยเป็นช่วงที่สองของโครงการ International Urban Cooperation (IUC) ซึ่งดำเนินงานระหว่างปี 2559-2563 โครงการนี้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนระหว่างเมืองในสหภาพยุโรปและเมืองอื่นๆ ทั่วโลก โดยจะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่างๆ และการนำคณะผู้แทนของเมืองไปดูงานในต่างประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินโครงการนำร่องที่มีทั้งภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม

โครงการ IURC จะมีส่วนช่วยในการบรรลุวัตถุประสงค์ของวาระการพัฒนาเมืองฉบับใหม่ (New Urban Agenda) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) วาระการพัฒนาเมือง (Urban Agenda) ของสหภาพยุโรป และนโยบายที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้ความสำคัญ ได้แก่ นโยบายยุโรปที่เข้มแข็งกว่าเดิมบนเวทีโลก (Stronger Europe in the World) ข้อตกลงสีเขียวแห่งยุโรป (European Green Deal) และแผนฟื้นฟูสำหรับยุโรปหลังการระบาดของโควิด-19 ที่มีชื่อเรียกว่า NextGenerationEU โดยโครงการนี้ดำเนินการในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเชียทั้งหมด 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย อินเดีย และอินโดนีเซีย

https://www.iurc.eu/australasia/

https://twitter.com/iurc_aa

เกี่ยวกับ we!parkwe!park เป็นกลุ่มผู้สนใจด้านการพัฒนาเมืองที่เล็งเห็นโอกาสในการนำพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ภายในเมืองมาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ประกอบกับโอกาสจากการกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ที่เรียกเก็บภาษีในพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจากโอกาสข้างต้นนี้ได้นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ผ่านกระบวนการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยได้รับทุนและการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก อย่าง Pocket Park ที่มีการส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวให้ได้ในระยะ 400 เมตร หรือภายในระยะเวลา 5 นาที ตามนโยบายเกณฑ์พื้นที่สาธารณะเขียวแบบใหม่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Green Bangkok 2030 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เข้าถึงได้ในระยะ 400 เมตร จากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 50 เพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อประชากรจาก 6.9 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง จากร้อย 17 เป็นร้อย 30 ภายในปี 2573

https://www.facebook.com/wecreatepark/

https://shmadesigns.com/

สำหรับสื่อมวลชน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อรัตนพร บิสทูแอร์ เจ้าหน้าที่ข่าวสารและวัฒนธรรม คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยRatanaporn.BISTUER@eeas.europa.eu


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ