
คงจะดีไม่น้อย "หากเราสามารถสร้างโลกเสมือนจริงที่สามารถจำลองสิ่งใดก็ได้เพื่อ "ทดลองก่อนลงมือทำจริง" เพื่อช่วยลดโอกาสความผิดพลาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
คู่เหมือนดิจิทัล หรือ Digital Twins คือการสร้างแบบจำลองวัตถุทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล อีกหนึ่งเทคโนโลยีความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมที่ทั้งโลกจับตามอง จากจุดเริ่มต้นแนวคิดในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ การผลิตอากาศยาน หรือรถยนต์ สำหรับการจำลองเหตุการณ์และวางแผนการดำเนินการผลิตหรือการซ่อมบำรุง รวมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ แนวคิดการสร้าง Digital Twins นั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน แต่การทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริงได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหลายชนิด รวมทั้งเงินทุนจำนวนมหาศาล มีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการสร้างวัตถุ 3 มิติ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเทคโนโลยีที่สร้างช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่าง Cloud ทำให้แนวคิด Digital Twins กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทและได้รับการจับตามองมากขึ้นเช่นกัน หลายอุตสาหกรรมเริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพื่อการพัฒนาไปสู่การเป็น Smart City ทั้งนี้ Digital Twins ไม่เพียงเป็นภาพจำลองที่สวยงามเท่านั้น แต่มีกลไกในการนำวัตถุ กระบวนการ ความสัมพันธ์ และพฤติกรรมทางกายภาพมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้สังเกต และติดตามประสิทธิภาพของวัตถุอย่างละเอียด รวมทั้งสามารถสำรวจหรือคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตที่อาจไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ESRI ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศ ในมุมมองใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ArcGIS แพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศอัจฉริยะระดับโลกในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ให้ความเห็นว่า แนวคิดของการทำ Digital Twins สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดย Gartner บริษัทวิเคราะห์เทคโนโลยีหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำคาดการณ์ว่า Digital Twins จะเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและเป็นกุญแจสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า หลายองค์กรได้นำ Digital Twins มาเป็นหนึ่งในอาวุธที่จะเข้ามาบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน หรือเพื่อศึกษาแนวโน้มสำหรับการคาดการณ์ในอนาคต อาทิ ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันนำ Digital Twins มาใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ในบ่อเจาะน้ำมันและโรงกลั่น เพื่อคาดการณ์เวลาที่ต้องซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ ยังมีการนำ Digital Twins ไปใช้ในด้านผังเมือง โดยใช้ในการจำลองสภาพแวดล้อม สภาพเมืองให้ใกล้เคียงกับเมืองจริง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางการวางผัง การแก้ปัญหา และการจัดการเมือง ก่อนที่จะลงมือจัดการกับสถานการณ์จริง รวมไปถึงการนำมาใช้ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ อาทิ สำนักงานการวางแผนพัฒนาเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเทคโนโลยี Digital Twins มาใช้ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบเมืองและทำความเข้าใจผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของเมืองในหลากหลายมิติและบริบทที่อาจเกิดขึ้น ช่วยประกอบการตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น นับเป็นเทรนด์เทคโนโลยีความหวังใหม่ของทุกอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง
สำหรับการนำเทคโนโลยี GIS มาประยุกต์ใช้เป็นองค์ประกอบของ Digital Twins สามารถใช้ในการจำลองสภาพเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน บริหารจัดการ หรือมอนิเตอร์ประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ในพื้นที่ โครงข่ายสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การปรับปรุง บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ตลอดจนการจำลองภาพผังในอนาคต เช่น การวางผังเมือง ผังชุมชน ผังโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะมีการพัฒนาในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และเชื่อมโยงสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ เทคโนโลยี GIS ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Digital Twins ในการวางผังเมืองและจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง (Planning and Engineering) ตั้งแต่กระบวนการเตรียมข้อมูลเพื่อทำ Digital Twins ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
การนำ Digital twins มาปรับใช้ในประเทศไทย ควรเริ่มตั้งแต่การบูรณาการข้อมูลมาเป็น Onemap เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ Digital Twins ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้การวางแผน การตัดสินใจรัดกุมขึ้น แก้ปัญหาตรงจุดขึ้น ใช้โซลูชันถูกต้องมากขึ้น เพื่อเป็นแผนการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ทำให้สามารถมองเห็นภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และระยะเวลาที่น้ำจะท่วม เพื่อการวางแผนเข้าช่วยเหลือ และแจ้งเตือนประชาชนได้ทันที รวมทั้งการบริการและอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำข้อมูลนี้มารวบรวมประมวลผลเพื่อวางแผนลดผลกระทบและป้องกันการเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต นำไปสู่แผนการสร้างสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริง
ขณะนี้ภาครัฐเริ่มสนใจที่จะรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงานไว้ที่ Cloud ส่วนกลาง เพื่อเป็น Open Data ให้ทุก ๆ ภาคส่วน สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากข้อมูลที่แชร์มีคุณภาพและเป็นข้อมูลที่อัปเดตได้แบบเรียลไทม์ จะสามารถเพิ่มมิติของข้อมูลให้ใกล้เคียงกับความจริงได้มากขึ้น เช่น 3D จำลอง หรือ Simulate เหตุการณ์น้ำท่วม หรือสถานการณ์อื่น ๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีประเภท AI Machine Learning และ Deep Learning มาใช้ในการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยหน่วยงานรับผิดชอบจะต้องมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับทำงานปฏิบัติการ วิเคราะห์ สั่งการได้อย่างเป็นระบบทันท่วงที ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขและขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้หากมี Data Hub อย่างเป็นระบบแล้ว ภาคเอกชนก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์จากแนวคิด Digital Twins ได้เช่นกัน เช่น การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย พฤติกรรมลูกค้า เพื่อการหาทำเลที่ตั้งร้านค้า และหาวิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม รวมทั้งวางแผนป้องกันความเสี่ยง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตได้
ติดตามกิจกรรมต่อเนื่องสำหรับเทคโนโลยี Digital Twins ในงาน Thai GIS User Conference 2021 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ลงทะเบียนได้ที่ : https://bit.ly/3k5kjw0