การประชุม FOMC วันที่ 14-15 ธ.ค. เฟดเร่งลดวงเงิน QE พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 17, 2021 10:33 —ThaiPR.net

  • จากการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 14-15 ธ.ค. ที่ผ่านมา เฟดแถลงว่าเฟดจะลดวงเงิน QE ในอัตราที่เร่งขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้วงเงิน QE ทั้งหมดจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2565 พร้อมทั้งส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2565 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับตลาดแรงงานที่เข้าใกล้อัตราจ้างงานเต็มที่ (full employment) โดยเฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE เดือนละ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนม.ค. 2565 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ลดวงเงิน QE เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้วงเงิน QE ทั้งหมดสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. 2565 ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ จากประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่ประมาณการการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในปีหน้า ตามด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 และ 2567 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าว (hawkish) ขึ้นเมื่อเทียบกับ Fed Dot Plot ในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียงครึ่งนึงของคณะกรรมการเฟดที่มองว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ เฟดยังได้เผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 5.5% ขณะที่ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของปี 2565 สู่ระดับ 4.0% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566 สู่ระดับ 2.2% ขณะเดียวกัน เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564-2566 สู่ระดับ 5.3%, 2.6% และ 2.3% ตามลำดับ
  • การประกาศเร่งลดวงเงิน QE และการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นเป็นไปตามที่ตลาดได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ขณะที่ ถ้อยแถลงของเฟดก็เป็นการฉายภาพว่าทิศทางเงินเฟ้อและเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจต่อตลาด ทั้งนี้ เฟดมีแนวโน้มที่จะพยายามใช้การสื่อสารเพื่อชี้นำการคาดการณ์ของตลาด และหลีกเลี่ยงที่จะส่งสัญญาณที่เหนือความคาดหมายของตลาดอันจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดได้ โดยจะเห็นได้ว่าเฟดยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังและมีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจากค่ากลางของ Fed Dot Plot อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นจากระดับใกล้ศูนย์ในปัจจุบันสู่ระดับ 0.9% ภายในสิ้นปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.6% ในปี 2566 และ 2.1% ในปี 2567 นอกจากนี้ ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของเฟด ซึ่งได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในระดับหนึ่ง ก็บ่งชี้ว่าเฟดมีมุมมองว่าในท้ายที่สุดเงินเฟ้อจะสามารถปรับลดลงได้โดยอัตโนมัติหลังจากปัญหาช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานคลี่คลายลง ขณะที่อัตราว่างงานก็จะลดลงสู่ระดับเหมาะสมที่ระดับ 3.5% ในปี 2565-2567 ส่งผลให้เฟดสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้
  • อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราว่างงานในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยหากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงกว่าที่คาด อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงจนส่งผลทำให้ภาครัฐต้องกลับมายกระดับมาตรการควบคุมให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เฟดเผชิญความท้าทายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี เฟดจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านราคา โดยหากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนไม่มีความรุนแรงและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเท่าใดนัก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความร้อนแรงเกินควร โดยตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฟดคงเผชิญแรงกดดันให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 3 ครั้งในปีหน้า ดังนั้น เฟดคงจะต้องติดตามสถานการณ์และอาจมีการส่งสัญญาณล่วงหน้า โดยเฉพาะในการประชุมเฟดในเดือนมี.ค. 2565 ก่อนที่วงเงิน QE จะสิ้นสุดลง หากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ
  • สำหรับผลกระทบต่อค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเร่งลดวงเงิน QE และสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดภายใต้การประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้นั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ทยอยแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่จังหวะการดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้นของสหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอต่อเนื่อง ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจจะยังมีทิศทางทยอยอ่อนค่าลง โดยมีโอกาสเคลื่อนไหวในระดับที่อ่อนค่ากว่าแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ดี หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระเตื้องขึ้นอาจจะหนุนเงินบาทให้กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้อยู่ที่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวว่าจะแข็งแกร่งเพียงใด

แท็ก เฟด   QE  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ