พช.แม่ฮ่องสอน นำทีมหนุนเครือข่าย KBO พัฒนานวัตกรรม ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP สร้างรายได้ให้ชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2022 09:04 —ThaiPR.net

พช.แม่ฮ่องสอน นำทีมหนุนเครือข่าย KBO พัฒนานวัตกรรม  ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP สร้างรายได้ให้ชุมชน

นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge Based OTOP:KBO) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ห้องประชุมประดิษฐ์จองคำ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายองค์ความรู้ KBO เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ KBO พัฒนาขีดความสามารถแก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สามารถเพิ่มมูลค่า สร้างนวัตกรรม โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 23 คน ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ที่มีศักยภาพ หรือระดับ 1 - 3 ดาว ที่ลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2557 - 2564 เข้าร่วมโครงการ จำนวน 27 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด ได้ร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ เพื่อวางแผน และกำหนดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ในการนี้ นายปฐมพงษ์ จันทร์สว่าง พัฒนาการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีความโดดเด่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร่วมลงทะเบียน OTOP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ.2564 จำนวน 619 กลุ่ม 1,500 ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2562 จำนวน 241 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ถั่วลายเสือ น้ำมัลเบอร์รี่ กาแฟ ผ้าทอขนแกะ ภูโคลน ผลิตภัณฑ์ตะไคร้ภูเขา เสื้อผ้าชาติพันธุ์แปรรูป 

ทั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกับเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดร่วมกันส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ