ม.มหิดล บ่มเพาะตัวตนหนบนทางแห่งความเป็นครู ใช้ใจสอนใจ

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2022 14:18 —ThaiPR.net

ม.มหิดล บ่มเพาะตัวตนหนบนทางแห่งความเป็นครู ใช้ใจสอนใจ

"หากใช้หัวใจของความเป็นครูเข้าไปสัมผัส ก็จะได้หัวใจของศิษย์กลับมา ให้ทั้งครูและศิษย์ได้เอื้อมมือถึงกันบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ในทำนองเดียวกัน หากครูตระหนักถึง "ตัวตนหนบนทางแห่งความเป็นครู" แล้ว ก็จะสามารถเปิดประตูให้ศิษย์ได้เข้าถึงการเรียนรู้ และเปิดใจได้ไม่ยาก"

อาจารย์ ดร.จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร รองผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรอบรมหัวข้อ "ตัวตนบนหนทางแห่งความเป็นครู" ในโครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลด้านการศึกษา (Mahidol University Academic Development Program; MU-ADP) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองบริหารการศึกษา จัดขึ้นเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่อาจารย์ผู้สอนของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมองถึงบทบาทของความเป็นครูว่า เป็นได้มากกว่า "ผู้มอบวิชาความรู้"

แต่เป็นการ "พัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม" ให้กับผู้เรียน จากความเป็นครูกับศิษย์ที่มีใจเชื่อมโยงถึงกันได้

บ่อยครั้งที่เริ่มชั้นเรียนออนไลน์ แล้วพบว่านักศึกษาขาดปฏิสัมพันธ์ ปิดไมค์ ปิดกล้อง ให้อาจารย์ผู้สอนต้องพูดอยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่ทราบเลยว่านักศึกษากำลังทำอะไร และเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สอน หรือยังอยู่ในห้องเรียนออนไลน์อยู่หรือไม่

ในการอบรมจะให้ผู้สอนได้ถามตัวเองว่า ได้เช็คความพร้อมก่อนเริ่มชั้นเรียนว่ามี "อุณหภูมิในใจ" หรือได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนว่ามีความพร้อมที่จะเรียนมากน้อยแค่ไหน หรือผู้เรียนมีความสนใจในเรื่องใดที่จะเชื่อมโยงมาสู่การเรียนรู้ จะดีกว่าไหม หากอาจารย์ผู้สอน จะใช้ "จิตตปัญญา" มาช่วยในการได้รู้จักและเข้าใจผู้เรียนอย่างแท้จริง

เพียงใช้ "การฟังอย่างลึกซึ้ง" มาเป็นตัวช่วย การฟังอย่างเคารพในความเห็นที่แตกต่าง ฟังอย่างไม่ตัดสิน รับฟังปัญหาหรือเรื่องทุกข์ใจของนักศึกษา แล้วช่วยวินิจฉัยเพื่อการค้นหาทางออกแห่งปัญหา ด้วยหนทางแห่งปัญญา

เมื่ออาจารย์ผู้สอนได้ทราบถึงสภาวะในใจของนักศึกษาในชั้นเรียนแล้ว ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรม หรือรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาวะที่นักศึกษาเป็นอยู่จริงได้มากยิ่งขึ้น

สุดท้ายการเรียนการสอนวิชาดังกล่าวก็จะสร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมโยง และต่อยอดกับชีวิต และความสนใจของผู้เรียนได้

ตัวอย่างเทคนิคละลายพฤติกรรมก่อนการเรียนการสอนออนไลน์ อาทิ การให้ผู้เรียนได้แชร์ภาพที่ประทับใจในโทรศัพท์มือถือ แล้วเล่าสู่กันฟังถึงความสุข และความทรงจำที่ดีที่มีต่อภาพนั้นๆ อาจเป็นภาพครอบครัว เพื่อน สัตว์เลี้ยงหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปแล้วชอบก็ได้ ก็จะสามารถช่วยทำให้นักศึกษาได้รู้สึกผ่อนคลาย และทำให้ห้องเรียนออนไลน์ได้อยู่ในบรรยากาศที่ได้เชื่อมโยงชีวิตของกันและกัน ก่อนที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันต่อไปอีกด้วย

แม้ยังไม่อาจเข้าถึงได้ในทันที แต่ในที่สุดจะค้นพบว่าการสอนที่ดีไม่สามารถลดทอนลงเหลือเพียงแต่เทคนิค วิธีการแต่การสอนผ่านตัวตนของครู เป็นการเชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้ากับมนุษย์ด้วยกัน เพียงการรับฟังด้วยหัวใจและสะท้อนกลับในสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง เป็นวิธีการอันทรงพลังที่จะสามารถดึงผู้เรียนให้มาอยู่กับผู้สอนได้เป็นอย่างดี

ซึ่งการเรียนรู้ด้วยหลักจิตตปัญญาให้เกิดความยั่งยืนนั้น จำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องให้เข้าไปอยู่ในตัวตน และชีวิตของผู้เรียน เพื่อที่จะเชื่อมโยงจากความเข้าใจตนเอง สู่ความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง และการเกื้อกูลกับผู้คนในวงกว้างเพื่อสังคมที่สันติสุขและยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


แท็ก ม.มหิดล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ