กสร. แจงลูกจ้างเข้าข่ายเป็นโควิด นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อ หากเลิกจ้างด้วยเหตุโควิด ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2022 12:17 —ThaiPR.net

กสร. แจงลูกจ้างเข้าข่ายเป็นโควิด นายจ้างมีสิทธิสั่งตรวจหาเชื้อ หากเลิกจ้างด้วยเหตุโควิด ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงกรณีลูกจ้างที่เข้าข่ายติดเชื้อไวรัส COVID-19 นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างตรวจหาเชื้อได้ ถือเป็นเหตุอันสมควร แต่หากจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนี้ ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง ที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่ลดจำนวนลง ด้วยความห่วงใยของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความต้องการให้ลูกจ้าง มีคุณภาพชีวิต และสุขภาพอนามัยที่ดี จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสร้างความเข้าใจ ต่อนายจ้างและลูกจ้างให้ทราบว่า หากนายจ้างมีข้อสงสัยว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงาน เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือหยุดพักผ่อนประจำปีได้ รวมไปถึงนายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ฉะนั้น คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นคำสั่ง เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เกี่ยวกับการทำงาน ที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น

อธิบดี กสร. กล่าวทิ้งท้ายว่า หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อไวรัส COVID-19 ถือว่าไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ไม่ใช่การกระทำผิดวินัย ลูกจ้างมีสิทธิ ได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือหากสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ