ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงยาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (SJIA) ได้แล้ว หลัง สปสช. อนุมัติเบิกจ่ายยา

ข่าวทั่วไป Thursday May 5, 2022 15:30 —ThaiPR.net

ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงยาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (SJIA) ได้แล้ว หลัง สปสช. อนุมัติเบิกจ่ายยา

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ในยาบัญชี จ(2) ซึ่งเป็นรายการยาสำหรับรักษาโรคที่มีความจำเป็นเฉพาะ 4 รายการ ได้แก่ อิมาทินิบ (Imatinib) ดาซาทินิบ (Dasatinib) เซฟตาซิดิม/อาวิแบคแทม (Ceftazidime/avibactam) รวมถึงโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) ซึ่งเป็นยามุ่งเป้า (ยากลุ่มสารชีวภาพ หรือ biologic agent) ที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis: SJIA) การประกาศขยายสิทธิประโยชน์ด้านยาในครั้งนี้มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยจำนวนมาก จากเดิมที่แพทย์ไม่สามารถสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่ผู้ป่วยได้

เมื่อพูดถึงโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (หรือโรครูมาตอยด์) หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่อาจยังไม่ทราบว่าโรคนี้สามารถพบในเด็กเล็กไปจนถึงช่วงวัยรุ่นได้อีกด้วย เรียกว่า "โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก" ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองหรือภูมิคุ้มกันทำงานเกิน จนทำให้เกิดข้ออักเสบในเด็ก และสามารถเกิดขึ้นได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกคอ รวมถึงขากรรไกร โดยโรคนี้ยังแบ่งประเภทย่อยได้อีก 7 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis: SJIA)

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค กุมารแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก "โรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากสารพันธุกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ ส่วนการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้เองหรืออาจได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยบางประการ เช่น ภาวะติดเชื้อ โดยอาการแสดงหลัก ได้แก่ ไข้สูงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการข้ออักเสบ อาจมีผื่นแดงเวลาไข้ขึ้นและผื่นหายเวลาไข้ลง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ความท้าทายในการวินิจฉัยโรคนี้คือผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคบางคนมีไข้สูงอย่างเดียวในตอนแรก แต่กลับแสดงอาการข้ออักเสบในภายหลัง จึงทำให้การวินิจฉัยกินเวลาพอสมควร แม้โรคนี้จะมีโอกาสพบไม่บ่อยนัก แต่อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือพิการได้หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล่าช้า อุบัติการณ์ของโรคนี้ในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 0.3 - 0.8 ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนในประเทศไทยกลับอุบัติการณ์สูงกว่าประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา อีกทั้ง โรคนี้ยังเกิดขึ้นได้ในเด็กอายุเพียง 7-8 เดือนไปจนถึง 16 ปี อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 5 ขวบ"

"สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการทางซิสเต็มมิกเด่น เช่น ไข้สูง ผื่น เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออาการข้ออักเสบเด่น ถ้าอาการทางซิสเต็มมิกเด่น แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ นาพรอกเซน (naproxen) หากผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (prednisolone) ซึ่งถือว่าเป็นยาที่มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยเด็กค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยากลุ่มสเตียรอยด์ยังมีผลข้างเคียงหากใช้เป็นเวลานาน เช่น ทำให้เด็กสูงช้าลง เพิ่มความอยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม หน้ากลม และมีขนตามตัวเยอะขึ้น รวมทั้งเกิดภาวะการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

หากผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบเด่น ยาที่ใช้จะเป็นยากดภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐาน (disease-modifying antirheumatic drug) ที่มักใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ เมโทรเทรกเซต (methotrexate) ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งด้วย แต่สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบในเด็ก ขนาดยาจะต่ำกว่าการรักษาโรคมะเร็งมาก ส่วนยาใหม่ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า ยามุ่งเป้า (ยากลุ่มสารชีวภาพ หรือ biologic agent) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ปัจจุบันยาที่นิยมใช้ในประเทศไทยเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก ได้แก่ ยาโทซิลิซูแมบ ยาชนิดนี้ทำหน้าที่ยับยั้งโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่ายากลุ่มสเตียรอยด์ และออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายากดภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐาน ในการศึกษาที่ผ่านมาของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่าหากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวภายใน 6 เดือนหลังจากการวินิจฉัย ผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งสามารถหายขาดและหยุดยาได้ ภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณปีครึ่ง ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่ดื้อยากดภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐาน และได้รับยาโทซิลิซูแมบช้า ยังไม่หายจากโรคและจำเป็นต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 4-5 ปี ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโทซิลิซูแมบ จำเป็นต้องได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ขนาดสูงเป็นเวลานานจึงส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กเตี้ยกว่าปกติ บางคนอาจมีกระดูกเปราะและหักง่าย อีกทั้งยังเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้น การเข้าถึงยาโทซิลิซูแมบอย่างทันท่วงทีในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนผลการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นอย่างชัดเจน"

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565[1] ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติอนุมัติให้ยาโทซิลิซูแมบเข้าไปอยู่ยาบัญชี จ(2) ทำให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่มสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านยาได้เพิ่มขึ้น ฉะนั้น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน โดยในขั้นแรกของการรักษา แพทย์จะให้ยาโทซิลิซูแมบเป็นเวลา 21 เดือน และมีการเก็บข้อมูลติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดว่า ในกรณีผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็วจะสามารถหยุดยาได้ภายใน 21 เดือนหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุงแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต

นายแพทย์กันย์ พงษ์สามารถ กุมารแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงแนวทางการรักษาโรคนี้ไว้ว่า "โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกมีรูปแบบการดำเนินโรค 3 ลักษณะ ได้แก่ แบบที่แสดงอาการครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาเป็นอีกหรือเรียกว่า โมโนเฟสซิส (monophasis) แบบที่สอง ผู้ป่วยที่เคยหายจากโรคแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งหรือเรียกว่า โพลีไซคลิก (polycyclic) และแบบสุดท้ายคือมีการอักเสบเรื้อรังอยู่ตลอดเวลา ปราศจากระยะโรคที่สงบลงเลย (persistent) แนวทางการรักษานั้น แพทย์มักเริ่มจากการให้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณสูง แต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยากดภูมิต้านทานอื่นๆ รวมถึงยามุ่งเป้าแทน นอกจากยาที่ใช้ในประเทศไทยแล้ว ยังมียากลุ่มอื่นที่ยังไม่เข้าประเทศไทยอีกด้วย ส่วนระยะเวลาในการรักษา ที่ผ่านมาพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยเด็กให้หายได้เร็วสุดภายในระยะเวลา 6 เดือน - 1 ปี ในขณะที่ ผู้ป่วยบางรายแม้จะผ่านการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังหยุดยาไม่ได้"

ในมุมของผู้ดูแลป่วย คุณเพ็ญพิไล เนื่องวัฒนา มารดาของ ด.ญ. พิรัญญา เนื่องวัฒนา (อายุ 15 ปี) อดีตผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก ได้แบ่งปันประสบการณ์การรักษาว่า "เริ่มสังเกตว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่ลูกอายุได้เพียง 3 ขวบ 4 เดือน เริ่มจากมีไข้สูง40-42 องศาและเป็นผื่น ซึ่งแปลกกว่าโรคเด็กทั่วไปตรงมีอาการคันร่วมด้วย อาการเหล่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก น้องก็ได้การรักษาตามอาการด้วยยากลุ่มสเตียรอยด์ แต่โชคดีที่ภายหลังมีโอกาสรู้จักคุณหมอโสมรัชช์ วิไลยุค ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้ทราบว่าลูกเป็นโรคนี้ อาการป่วยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผื่นที่ขึ้นตามขาทำให้คนเห็นเวลาใส่กระโปรง ลูกจึงเกิดความอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดข้อมือ จนต้องเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ข้อมือ ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนหนังสือ นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำให้ทำกายภาพบริหารข้อมืออย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาอาการปวด"

"หลังจากทราบว่าเป็นโรคนี้ คุณหมอก็รักษาโดยใช้ยามุ่งเป้าร่วมกับยาแก้แพ้เพราะว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย ในระยะแรก ลูกได้รับยาสองครั้งต่อเดือน ต่อมาภายหลังความถี่เริ่มลดลงเหลือเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง สามเดือนครั้ง ซึ่งใช้เวลารักษารวมประมาณปีกว่าๆ ลูกก็หาย แต่พอหยุดยาไปหนึ่งปี อาการก็กลับมากำเริบอีกครั้ง เริ่มมีผื่น ไข้ขึ้น แต่คราวนี้ลูกมีอาการติดเชื้อนำมาก่อนทำให้โรคกำเริบ คุณหมอจึงพิจารณาให้การรักษาร่วมกับยาชนิดอื่นด้วย จากนั้นก็รักษาต่อมาอีกหนึ่งปี ล่าสุดลูกหายสนิทแล้ว อยากจะฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังป่วยด้วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก ว่าถึงแม้จะเป็นห่วงและกังวลกับอาการของลูกมากเท่าใด แต่ควรเข้าใจด้วยการรักษาต้องใช้เวลานาน ดังนั้น จึงควรอดทนและใจเย็นให้มาก คำถามที่คุณแม่ถามคุณหมอเสมอระหว่างที่ลูกกำลังป่วยอยู่คือ มียาอะไรรักษาลูกเราได้บ้าง พอได้ยินจากคุณหมอว่านอกเหนือจากยากลุ่มสเตียรอยด์แล้ว ยังมียามุ่งเป้าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษาโรคนี้ได้ คุณแม่ก็รู้สึกสบายใจขึ้นมากและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกหาย แม้จะมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร แต่หลังจากนี้ เมื่อยาดังกล่าวเบิกจ่ายตามสิทธิบัตรทองได้ ก็ถือเป็นข่าวดีครั้งใหญ่ของเด็กๆ ที่กำลังต่อสู้กับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก"

หากผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกมีโอกาสเข้าถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที โรคนี้ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น มติของที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นด้านการเข้าถึงยา และเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ เหนือสิ่งอื่นใดยาที่เหมาะสมยังช่วยลดผลข้างเคียงจากการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน และลดแนวโน้มที่จะเกิดความพิการในผู้ป่วยเด็กได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ