CU Social Innovation Hub หนุนงานวิจัยสังคมศาสตร์สู่นวัตกรรมทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ตอบโจทย์สังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday June 8, 2022 13:50 —ThaiPR.net

CU Social Innovation Hub หนุนงานวิจัยสังคมศาสตร์สู่นวัตกรรมทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ตอบโจทย์สังคม

จุฬาฯ เผยความสำเร็จ CU SiHub บ่มเพาะอาจารย์นักวิจัยและนิสิตจุฬาฯ ขับเคลื่อนงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมสร้างนวัตกรรมทางสังคม ผลักดันสู่ภาคธุรกิจและ Social Enterprise เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อเอ่ยถึงนวัตกรรม หลายคนคงจะนึกถึงสิ่งประดิษฐ์ AI ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลาย แต่จริงๆ แล้ว ยังมีนวัตกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง "นวัตกรรมทางสังคม" ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่ก็สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รองศาตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำกับดูแลศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของนวัตกรรมทางสังคมว่า "นวัตกรรมทางสังคมอาจจะไม่ใช่ชิ้นงานที่จับต้องได้ แต่เป็นวิธีการ แนวคิด และกระบวนการคิดในรูปแบบใหม่ ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม ตอบโจทย์สังคมได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนสังคมหรือชุมชนดีขึ้น"

จุฬาฯ เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) จึงได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Social Innovation Hub (CU SiHub) ในปี 2563 เพื่อให้เป็นศูนย์รวมอาจารย์นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ควบคู่ไปกับ CU Innovation Hub (CU iHub) ที่เป็นศูนย์รวมงานวิจัยนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพพัฒนาในภาคธุรกิจและเป็น Start up

"ศูนย์ฯ นี้ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและนิสิตจากทุกศาสตร์ทุกสาขา ที่สนใจในการพัฒนาชุมชนและสังคม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนและสังคมให้ดีขึ้น และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"

CU SiHub กับบทบาทหนุนนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์

นอกจากศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคม จุฬาฯ (CU SiHub) จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับอาจารย์นักวิจัยและนิสิตที่สนใจนวัตกรรมทางสังคมแล้ว ศูนย์ฯ ยังเน้นสนับสนุนโครงการวิจัยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนให้ได้ผลจริงและอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการสร้างรายได้ให้เป็นทุนหมุนเวียนกับกลุ่มวิจัยและคนในชุมชน

"รายได้อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอาจมาจากเงินบริจาค เช่น การระดมทุน (Crowd funding) หรือเงินจากบริษัทที่สนับสนุนงาน CSR อีกส่วนอาจมาจากการขายนวัตกรรมสินค้าและ/หรือบริการจากโครงการวิจัยเอง ยกตัวอย่างโครงการวิจัยท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จ.น่าน ที่จัดทัวร์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้" รศ.ดร.พรรณี กล่าว ทั้งนี้ ศูนย์ฯ แบ่งกลุ่มงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ นวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน และนวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม

นวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน

ในด้านนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมจุฬาฯ จะสนับสนุนเงินทุน หรือ seed fund ให้นักวิจัยเพื่อนำเอานวัตกรรมลงไปใช้กับชุมชน หลังจากนั้น กลุ่มวิจัยสามารถใช้ผลงานเป็น showcase สำหรับการนำไปต่อยอด หรือขอรับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมหรือแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไปในอนาคต อันจะทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่มีต่อชุมชนต่อไป

"ตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง "ผัดไทย" ของศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา นักวิจัยได้สร้างเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ผัดไทย: สูตรลับลิขิตฝัน" และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้นำไปเผยแพร่ นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้นำไปเข้าฉายในงาน The Montanosa Film Festival (MFF) เมื่อ 19-27 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมขับเคลื่อน Soft Power ด้านวัฒนธรรมอาหารไทยสู่เวทีระดับโลกผ่านสื่อบันเทิง ซึ่งนอกจากเรื่องผัดไทยแล้ว ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ก็ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันเอเชียศึกษาเพื่อทำงานต่อในเรื่องอื่นๆ ด้วย" รศ.ดร.พรรณี กล่าว

นอกจากผลงานวิจัยเรื่อง "ผัดไทย" แล้ว CU SiHub สนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชนที่ อีกหลายชิ้น ได้แก่  

 ผลงานนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชนงานวิจัยหัวหน้ากลุ่มวิจัย
1.สอนการเขียนบทละครและการแสดงละครให้นักเรียนในชุมชนให้มีความคิดสร้างสรรค์สร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยศิลปะการละคร การพัฒนานักการละครและสร้างสื่อต้นแบบไปสู่การสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ผ่านครูและนักเรียนที่โรงเรียน ศ.พรรัตน์ ดำรุง คณะอักษรศาสตร์
2.ภาพยนตร์ตอนทดลอง 3 เรื่อง "มวยไทย" "จักสานย่านลิเภา" "ประเพณีผีตาโขน"การส่งออกวัฒนธรรมไทย ผ่านสื่อบันเทิง  การนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาสร้างเป็นบทละครเพื่อให้เกิดการรับรู้สู่สาธารณะและเข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมไทยในรูปแบบใหม่   ดร.ดลยา เทียนทอง ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคมสถาบันเอเชียศึกษา
3.ตามสั่ง-ตามส่งตามสั่ง-ตามส่ง: นวัตกรรมทางสังคมเพื่อเศรษฐกิจสมานฉันท์ การพัฒนาชุมชนสมานฉันท์ผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ดำเนินงานโดยชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายไปหลายพื้นที่นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ  สถาบันเอเชียศึกษา
4.ยกระดับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองใน จ.น่านการพัฒนาต้นแบบการผลิตไก่พื้นเมืองโดยวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าและกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำหรับวิสาหกิจชุมชน  กระบวนการการพัฒนายกระดับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรรายย่อย และถ่ายทอดความรู้พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล  สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร 
5.แพลตฟอร์มนำเสนอบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่แผนที่เศรษฐกิจชุมชนแบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างขีดความสามารถสำหรับผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม แพลตฟอร์มนำเสนอบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออวิทยาลัยประชากรศาสตร์

นวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

การส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญและเป็นเสน่ห์ของ CU SiHub ที่ทำให้นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์เห็นว่าความรู้ด้านนี้ก็พัฒนาสู่โลกธุรกิจได้

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการฝึกอบรม (Coaching) 2 หลักสูตรด้วยกันสำหรับอาจารย์นักวิจัยและสำหรับนิสิต เพื่อบ่มเพาะการออกแบบโมเดลธุรกิจ โดยเนื้อหาในหลักสูตรเน้นที่วิธีคิดและทักษะ อาทิ

  • คิดและเข้าใจปัญหาสังคมที่ต้องการแก้ไขคืออะไร
  • มีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องบ้าง?  
  • การใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) ทดสอบว่านวัตกรรมดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
  • กระตุ้นให้เกิดการคิดอย่าง Critical thinking คิดนอกกรอบ

"หลังจากการอบรมโมเดลธุรกิจแล้ว ศูนย์ฯ ก็จะจัดงาน Pitch Deck ให้นิสิตและกลุ่มวิจัยมานำเสนอโมเดลธุรกิจของตัวเองและเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาให้ความเห็นเพื่อพัฒนางานนั้นๆ ก่อนจะนำโมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมไปทดสอบสนามจริงในโครงการทดสอบต้นแบบนวัตกรรมทางสังคม" รศ.ดร.พรรณี อธิบาย

ที่ผ่านมา CU SiHub ได้บ่มเพาะและสนับสนุนนักวิจัย รุ่นที่ 1 จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม 7 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบต้นแบบโมเดลธุรกิจ ได้แก่

 โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมรายละเอียดหัวหน้ากลุ่มวิจัย
1.Data Journalism: Data Telling Platformแพลตฟอร์มการพัฒนาคนและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการสื่อสารผ่านข้อมูลและการไตร่ตรองของสังคมรศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์
2.Cuddle: The Storytelling Academyแพลตฟอร์มการพัฒนาบุคลากรด้าน Storytelling และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์
3.Tamsang-Tamsong: Social and Solidarity Economy Platformแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่เน้นการสร้างอาชีพและความสมานฉันให้แก่ชุมชนนายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา
4.CU Let's go: The Local Experience Tourismแพลตฟอร์มส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์เชิงประสบการณ์ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
5.CU PGS Nan: The Sustainable PGS Farmingการคืนสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยระบบเกษตรยั่งยืนเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตครัวเรือนเกษตรกรผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร
6.CU Farm: The Sustainable Livestock Farmingระบบฟาร์มยั่งยืนเสริมสร้างอาชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล  สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร
7.EduPACT: The Art Education for Impactการออกแบบและใช้สื่อศิลปะเพื่อการบรรเทาและลดสภาวะที่มีผลกระทบทางจิตใจของกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ คณะครุศาสตร์

ทิศทางอนาคตนวัตกรรมทางสังคมเพื่อความยั่งยืน

แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำให้คำว่า "นวัตกรรมทางสังคม" อยู่ในใจประชาคมจุฬา

"จำนวนอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจากหลากหลายคณะในจุฬาฯ สมัครเข้าร่วมการอบรมมากขึ้นเกือบเท่าตัว จากรุ่นแรกที่มีผู้เข้าร่วม 7 กลุ่มงานวิจัย แต่ในรุ่นที่ 2 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ มีผู้สนใจสมัครมากถึง 12 กลุ่มงานวิจัย เราอยากให้ทุกคนรู้จักและสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมร่วมกันในพื้นที่นี้มากขึ้น"

รศ.ดร.พรรณี กล่าวทิ้งท้ายว่าในปีนี้ ศูนย์ฯ จะจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ศูนย์ฯในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และในอนาคต ก็มีแผนจัดอบรมความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมที่เป็น best practice จากนักวิจัยหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมให้กับอาจารย์นักวิจัยและนิสิตจุฬาฯ โดยจะเน้นงานวิจัยหรือนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน SDG (Sustainable Development Goals)

ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
CU Social Innovation Hub - CU SiHub
ชั้นล่าง อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมลติดต่อ sihub@supawich-cchula-ac-th.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ