เนคเทค สวทช. ร่วม EEC และ สพฐ. จัดแข่งขัน "ออกแบบอย่างใจคิดพิชิต อุตุน้อย Hackathon" มุ่งพัฒนาทักษะคิดสร้างสรรค์ เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรน้อยในเขตพื้นที่ EEC ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2022 12:34 —ThaiPR.net

เนคเทค สวทช. ร่วม EEC และ สพฐ. จัดแข่งขัน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศผล และมอบรางวัลการแข่งขัน "ออกแบบอย่างใจคิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon" (UtuNoi Hackathon) เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการออกแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครู อาจารย์ และเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หวังสร้างชุมชนนักประดิษฐ์ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Community Data Science) เตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม ซึ่งสวทช. ได้ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครูและเยาวชน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ได้จัดอบรมและกิจกรรมแข่งขัน ในรูปแบบออนไลน์ (Online) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400 โรงเรียน ในหัวข้อต่าง ๆ ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การโค้ดดิ้ง (Coding), ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded system), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) และในครั้งนี้ได้ได้จัดกิจกรรม ณ สถานที่จริง ให้กับคุณครู และนักเรียน ได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิจัย ได้มาใช้เครื่องมือในโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication lab หรือ FabLab) ในการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติและการตัดด้วยเลเซอร์ (3D-Printing & Laser cutting) เพื่อออกแบบพัฒนาผลงานสถานีวัดอากาศอุตุน้อย นำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนและชุมชนของตนเอง รวมถึงการขยายผลต่อยอดเป็นชุดสื่อการเรียนการสอน เป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ โดยความสำคัญของกิจกรรมนี้น้อง ๆ จะได้ฝึกทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมไปถึงทักษะการโค้ดดิ้ง และสเต็ม ตามที่สพฐ. ให้ความสำคัญ

คุณธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กล่าวถึงบทบาทของ EEC ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมขั้นสูงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นับเป็นภารกิจที่ EEC ให้ความสำคัญ ทั้งด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ซึ่งโครงการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ครูและเยาวชน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ EEC ร่วมดำเนินงานกับสวทช. มาอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนกิจกรรมด้านการพัฒนากำลังคนด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัล ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นก็คือ KidBright และอุปกรณ์ใน Fab Lab ผ่านการคิด วางแผน ออกแบบ และลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่ EEC มีนิคมอตุสาหกรรมต่างๆ Automation Park ที่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนทางด้านเทคโนโลยี ในการพัฒนาทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0

ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า สพฐ. พร้อมสนับสนุนการทำงานร่วมกับเนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ในการสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการคิด พัฒนาความรู้ และได้รับประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ภายในห้องเรียน โดยกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ได้จริง เชื่อว่าผู้เรียนจะสามารถต่อยอดไปสู่การคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ และในอนาคตอาจมีแผนการขยายผลโครงการฯ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่อื่น หรือพื้นที่ห่างไกล ที่มีเพชรเม็ดงามที่ต้องการการเจียระไนให้เป็นนักพัฒนา เป็นนวัตกรน้อยสำหรับเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศต่อไป

36 ชั่วโมงสุดเข้มข้น ในการแข่งขัน"การออกแบบอย่างใจ คิดพิชิตอุตุน้อย Hackathon"(UtuNoi Hackathon) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565  เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คุณครู และนักเรียน ได้ร่วมกันนำเสนอไอเดียอย่างสร้างสรรค์ ออกแบบพัฒนาสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ หรืออุตุน้อย โดยเปิดรับสมัครครู และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ. ฉะเชิงเทรา จ. ชลบุรี และจ.ระยอง ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งขันในรอบนี้ทั้งสิ้น 15 ทีม จาก 12 โรงเรียน จำนวน 74 คน แต่ละทีมจะประกอบด้วยครู 2 คน และนักเรียน 3 คน ซึ่งหัวหน้าทีมจะต้องเป็นครูที่ผ่านการอบรมในหัวข้อ "KidBright อุตุน้อย" นอกจากนี้ทุกทีมจะได้รับการอบรมออนไลน์ปรับพื้นฐานความรู้ และเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าร่วมกิจกรรม ในเวทีการแข่งขันแต่ละทีมจะต้องออกแบบ พัฒนาเชื่อมต่อบอร์ด KidBright ร่วมกับเซนเซอร์ภายนอกสำหรับตรวจวัดสภาพอากาศ จากโจทย์การแข่งขัน  3 ประเภท ได้แก่ เซนเซอร์วัดความเร็วลม เซนเซอร์วัดทิศทางลม และเซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน โดยเริ่มต้นจากออกแบบโครงสร้าง Sensor ขึ้นรูปชุดอุปกรณ์วัด และออกแบบวงจรไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกัน ด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ภายในห้อง Fab Lab สร้างเป็นสถานีอุตุน้อยในการวัดค่าสภาพอากาศ ภายในระยะเวลา 36 ชั่วโมง จนได้เป็นต้นแบบของเซนเซอร์ที่สามารถนำไปเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยากพัฒนาสถานีอุตุน้อยเองร่วมกับบอร์ด KidBright ที่โรงเรียนมีอยู่ และการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการส่งข้อมูล สภาพอากาศไว้บน UtuNoi PLAYGROUN และคาดหวังว่าในปีหน้า จะขยายผลส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน (KidBright AI) ให้กับโรงเรียนที่นำร่องไปแล้วเกือบ 400 โรงเรียน

ผลการคัดเลือกทีมที่สามารถคว้ารางวัล "ออกแบบอย่างใจคิดพิชิต อุตุน้อย Hackathon" ในแต่ละประเภท ได้แก่

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาททีมจากโรงเรียนแกลง "วิทยาสถาวร"  จังหวัดระยองอาจารย์ที่ปรึกษา1. นายเอกรัฐ เอมเจริญ 2. นางสาวประภาพร ปลายเนินทีมนักเรียนผู้พัฒนา1. นายณภัทร ศิริจันทร์2. นางสาวมานิศา กล้าหาญ 3. นางสาวธีรนาฎ เพ็ชรฉกรรจ์รายละเอียดผลงาน : ออกแบบและสร้างเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน อย่างง่ายโดยเป็นความถูกต้องแม่นยำ ประหยัดงบประมาณง่ายต่อการใช้งาน เพื่อนำไปใช้ในการพยากรณ์ ป้องกันภัยพิบัติ หลักการทำงาน น้ำไหลหยดลงไปยังคานกระดก คานกระดกหนึ่งครั้งส่งสัญญานไปยังลีดสวิตซ์  1 ครั้ง น้ำ ถ้าลีดด์ผ่านสวิตซ์ เป็นวงจรปิด ถ้าลีดด์ไม่ผ่านสวิตซ์ เป็นวงจรเปิด

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดความเร็วลม ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาททีมจากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา  อาจารย์ที่ปรึกษา1. นายสุทธิพงษ์ สุขสร้อย 2. นายรติ พิพัฒน์ศรีทีมนักเรียนผู้พัฒนา1. นางสาวณัฏฐาณิชา จิราพรพิสิฐ 2. นางสาวพนิตนันท์ พานิชนันโท3. นายไตรวิชญ์ จันทร์งามรายละเอียดผลงาน : เมื่อลมพัด จะทำให้แขนของเครื่องพัดตามความเร็วลมแบบแปรผันตรงกัน หากลมพัดเร็วขึ้นแขนก็จะหมุนเร็วขึ้น จากนั้นจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังบอร์ด KidBright บอร์ดจะทำการคำนวณค่าความเร็วลมตามที่เขียนโค้ดวงจร การทำงานของเครื่องวัดความเร็วลมมีตัว REED SWITCH เป็นหลอดแก้วผนึกกั้นอากาศมีขั้วไฟฟ้าที่ปลายทั้งสองด้าน ด้านในต่อกับก้านหน้าสัมผัสขนาดเล็ก ที่ทำจากโลหะสารแม่เหล็ก เมื่อใบพัดของเครื่องวัดความเร็วลมที่ ติดแม่เหล็กเคลื่อนที่ ทำให้สนามแม่เหล็กในบริเวณสัมผัสกันทำให้เกิดสัญญาณ PULSE  และส่งสัญญาณไปยังบอร์ด KidBright เพื่อประมวลต่อไป  

ผลงานสถานีอุตุน้อย ประเภทเซนเซอร์วัดทิศทางลม ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 20,000 บาททีมจากโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรีอาจารย์ที่ปรึกษา1. นายณัฐ กาญจนศิริ 2. นายอุภัยภัทร บุญเพ็งทีมนักเรียนผู้พัฒนา1. นางสาวธิษณาพัชญ์ อุมา2. นางสาวปภาวรินทร์ ลาภอนันต์3. นางสางศศิชา อากาศอำนวยรายละเอียดผลงาน : ใช้หลักการต้านทานอากาศเมื่อมีอากาศไหลผ่านอุปกรณ์ สามารถวัดทิศทางลมในทิศทางทำมุมกับเครื่องวัด แรงลมจะผลักให้หางหมุนรอบแกนหมุนจนกว่าจะมีทิศทางขนานกับลม ภายในวงจรจะมีลีดด์สวิตซ์ทำงานเมื่อมีแม่เหล็กเข้ามาใกล้โดยแต่ละตัวจะมีการต่อตัวต้านทานจะทำให้รู้ว่าลูกศรชี้ไปในทิศทางใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ