"เมื่อเราสู้โควิด แต่โควิดสู้กลับ" ทำความเข้าใจ ทำไมวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นทางออกสำคัญในการกระตุ้นภูมิป้องกันโควิด-19

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2022 17:11 —ThaiPR.net

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ จนคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบให้ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกอยู่ในแนวโน้มลดลง รวมถึงรัฐมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนไม่น้อยและยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หลายสิบคนทุกวัน

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด ที่เราทุกคนควรทำคือการปกป้องตนเองและคนรอบตัว โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากวัคซีนจะมีผลช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อและที่สำคัญ ช่วยลดความรุนแรงของโรค เพื่อไม่ให้เข้าสู่ระดับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตจากโควิด-19

ไวรัสกลายพันธุ์?ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนาม ส่งผลให้ไวรัสเหล่านี้สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ยังไม่นับรวมสายพันธุ์ BA.3, BA.4 และ BA.5 ที่กำลังระบาดในต่างประเทศขณะนี้ ที่อาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่อการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์หลังจากการรับวัคซีน 2 เข็มแรกลดลง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะหากไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงมีโรคประจำตัวก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้

แม้ว่าจะมีผลการวิจัยออกมาให้เห็นแล้วว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ที่มีแนวโน้มต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงการเสียชีวิตได้[ Dejnirattisai W. et al. Omicron-B.1.1.529 leads to widespread escape from neutralizing antibody responses. BioRxiv. Available at: https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2021.12.03.471045v2.full.pdf Last accessed December 2021.] และมีการรณรงค์จากทั้งภาครัฐและเอกชนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่รายงานสรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนการได้รับวัคซีนสะสมรวม 138,697,935 โดสแบ่งเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 คิดเป็น 81.7% ของประชากร จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 คิดเป็น 76.1% ของประชากร ส่วนผู้ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 คิดเป็น 41.6% ของจำนวนประชาชนทั้งหมดในประเทศไทย[ ผลการให้บริการวัคซีน วันที่ 12 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 น. โดยฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข] ซึ่งหมายความว่ายังมีประชากรไทยอีกเกือบ 60% ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3

เลือกวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ต้องพิจารณาอย่างไร?
การเลือกวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถพิจารณาตามคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยการฉีดเข็มกระตุ้นนั้น มีข้อมูลการศึกษาที่บ่งบอกถึงประสิทธิผล (Vaccine Effectiveness) ที่ดีใกล้เคียงกันในทุกสูตร โดยประสิทธิผลของวัคซีน จะเป็นการดูผลการป้องกันของวัคซีนในชีวิตจริงที่มีการใช้มาอย่างมากมายในประชากรวงกว้าง ทั้งในการป้องกันการติดเชื้อ ลดโอกาสในการเกิดโรครุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด-19

จุดสิ้นสุดของวิกฤตโรคระบาด
จุดสิ้นสุดในทีนี้ไม่ได้หมายความว่า โควิด-19 จะหายไป ทว่ามันอาจจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" (Endemic) ที่ยังคงระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ แต่สามารถควบคุมไม่ให้แพร่เป็นวงกว้างได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกคน อาทิ การสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว รวมถึงประชาชนทั่วไปก็ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ตามลำดับ เพื่อจำกัดการระบาดในวงกว้าง

จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนจากการใช้ในชีวิตจริงทั่วโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยหนักในระดับที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้สูงไม่แตกต่างกัน อีกทั้งตอนนี้ สหภาพยุโรปก็ให้การอนุมัติออกมาแล้วว่าสามารถใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ หลังจากที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA[ Vaxzevria approved in the EU as third dose booster against COVID-19]


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ