ผู้ปกครองเครียดแบกค่าใช้จ่ายการศึกษา วอนโรงเรียนลดรายจ่ายไม่จำเป็น

ข่าวทั่วไป Friday March 21, 2008 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--IANDI COMUNICATION
นักวิจัยชาวบ้านทั่วประเทศ สะท้อน "หนี้สินจากการศึกษา" ปัญหาเดียวที่ยังแก้ไม่ได้ แม้ประหยัดรายจ่ายทุกหมวดหมู่แล้วก็ตาม โรงเรียนเมินช่วยไม่ได้ ทำให้ต้องแบกรับภาระขั้นต่ำ 3,800 บาท/เดือน ทั้งที่บางรายหาเช้ากินค่ำ ไม่มีรายได้ประจำ
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในงานเสวนา "การศึกษากับการจัดการหนี้สิน ทางออกหรือทางตันของชาวบ้าน" ซึ่งจัดขึ้นที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ว่าปัญหาหนี้สินในครัวเรือนที่เกิดขึ้นและสะสมมานาน ท่ามกลางกระแสการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างถ้วนหน้านั้น ทาง สกว.ได้สนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาและจัดการตัวเองได้ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า "การวิจัยเพื่อท้องถิ่น" มาตั้งแต่ปี 2541
"เป็นการทำวิจัยเพื่อค้นหารูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เริ่มต้นจากชุมชนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จจนปัจจุบันมีชุมชนที่ให้ความสนใจทำโครงการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดการปัญหาหนี้สินอย่างต่อเนื่องจำนวน 24 ชุมชน กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ" ผอ.สกว.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทุกชุมชนที่ทำวิจัย ต่างตระหนักดีว่าแม้จะแก้ไขปัญหาได้เกือบรอบด้านแต่ภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรหลาน เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่สามารถต่อรองหรือหลีกเลี่ยงได้เลยเพราะต้นเหตุไม่ได้มาจากปัจจัยภายในครอบครัวหรือชุมชนเอง แต่นโยบายรัฐตลอดจนโรงเรียนเป็นผู้กำหนดขึ้น และส่งต่อเป็นแนวดิ่งมายังชาวบ้านหรือผู้ปกครอง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ โดยมีนักวิจัยชุมชนจากทั่วทุกภูมิภาคเข้าร่วม
นายชาญ อุทธิยะ ผู้ประสานงานสถาบันแสนผะหญา จ.ลำปาง เปิดเผยว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต และเกิดหนี้สินตามมา ซึ่งจากการสำรวจหนี้สินบ้านสามขา ในปี 2543 พบว่าชาวบ้าน 154 ครัวเรือน มีหนี้รวมกันถึง 18 ล้านบาทเศษ จึงได้หาทางแก้ไข และในที่สุดก็พบว่าการทำบัญชีครัวเรือน คือเครื่องมือหรือเข็มทิศที่จะชี้ให้เห็นรายรับ-รายจ่าย ในแต่ละวัน/เดือน/ปี อย่างชัดเจน ทำให้สามารถวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขได้
"เมื่อรู้ถึงสภาพเศรษฐกิจครอบครัวในแต่ละเดือน ชาวบ้านจะมีการปรับตัวเพื่อให้การใช้จ่ายสอดคล้องกับรายรับ ไม่เกินตัวเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ สามารถตัดลดได้ แต่หมวดหมู่หนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่คือค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานซึ่งพบว่าไม่สามารถต่อรองหรือลดได้เลย ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 12 ปี แต่ในทางปฏิบัติเกิดช่องโหว่มากมายเนื่องจากเมื่อไม่สามารถเก็บค่าเทอมได้ โรงเรียนก็จะเรียกเก็บค่าบำรุงต่างๆ แทน เช่น ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าชุดที่ต้องสวมใส่ไปโรงเรียน ค่ากระเป๋าเป้ เก็บผ่านชมรม/สมาคมผู้ปกครอง ในรูปแบบเงินบริจาค แต่กำหนดขั้นต่ำไว้ หรือแม้กระทั่งการเรียนพิเศษ ซึ่งเด็กที่ไม่เรียนพิเศษ จะเรียนไม่ทันเพื่อน เป็นต้น" นายชาญ กล่าวและว่า
ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง โรงเรียนอาจได้รับการสนับสนุนจากรัฐไม่เพียงพอ จึงต้องหารายได้เสริมด้วย ซึ่งหากเป็นผู้ปกครองที่มีฐานดี หรือปานกลางขึ้นไป คงไม่เดือดร้อนมากนัก แต่ในระดับชาวบ้านที่ไม่มีเงินเดือนประจำ ซ้ำบางรายยากจน ต้องหาเช้ากินค่ำ การหาเงินส่งเสียให้ลูกได้เรียนหนังสือทั้งภาคบังคับ และระดับที่สูงขึ้นไป จึงเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์อย่างยิ่ง โดยจากการวิจัยพบว่าหากครอบครัวมีลูกเรียนหนังสือ 1 คน จะต้องมีรายได้อย่างต่ำ 3,800 บาท/เดือน จึงจะไม่ติดหนี้ในการดำรงชีพทั้งภายในครัวเรือน (แบบประหยัดอดออมทุกวิถีทางแล้ว) และส่งลูกเรียนหนังสือ แต่หากมี 2 คน ก็ต้องเพิ่มภาระหาเงินอีก 2,000 บาท/เดือน
"จากการพูดคุยกับผู้ปกครองหลายๆ คน พบว่าแนวทางแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้ ก็คือ โรงเรียนควรลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ไม่จำเป็นลงบ้าง เช่น ชุดที่ให้นักเรียนสวมใส่ บางแห่งมีถึง 5 ชุด/สัปดาห์ คือชุดพละ ชุดกีฬาสี ชุดลูกเสือ/เนตรนารี ชุดนักเรียน และชุดพื้นเมืองที่สำคัญคือพอเลื่อนขึ้นชั้นใหม่ ก็เปลี่ยนรูปแบบของชุดใหม่ ทั้งที่ชุดเดิมก็ยังใช้ได้ และส่วนใหญ่ยังมีราคาแพงกว่าท้องตลาดอีกด้วย" ผู้ประสานงานสถาบันแสนผะหญา อธิบาย
นอกจากนี้ ในส่วนของสมาคมหรือชมรมผู้ปกครอง ก็ควรทำหน้าที่และบทบาทของตัวเองให้ชัดเจน ไม่ใช่รับนโยบายจากผู้บริหารโรงเรียน แล้วนำมากดดันผู้ปกครองด้วยกันเอง แต่ต้องเป็นตัวแทนของผู้ปกครอง เพื่อต่อรองกับโรงเรียนในบางเรื่องที่เห็นว่าเกินความจำเป็นหรือไม่เกิดประโยชน์ต่อเด็กอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันน่าจะนำเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่รัฐจัดสรรมาทุกปีมาพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนรัฐ ทั้งด้านบุคลากร และคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือก และโอกาสได้เรียนต่อมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงๆ
นายชาญ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่อยากให้สถาบันการศึกษาคิดว่ากำลังทำธุรกิจ ทำให้เด็กต้องลงทุนมหาศาลเพื่อเรียนรู้ ซึ่งบางรายใช้ประโยชน์จากวุฒิการศึกษาไม่คุ้มค่า เช่น เรียนจบ ม.6 หรือปริญญาตรี แต่ไปสมัครงานตามวุฒิไม่ได้ ก็ต้องใช้วุฒิ ม.3 ไปสมัครเข้าทำงานแทน ทำให้ได้รับเงินเดือนน้อย ส่วนบางกรณีก็หมดอนาคตทางการศึกษา ทั้งที่สมองดี เรียนเก่ง หากครอบครัวยากจน ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าบำรุงการศึกษาได้ โรงเรียนก็ไม่ยอมให้ใบ รบ.หรือวุฒิบัตร จึงไม่มีหลักฐานไปแสดงเพื่อเรียนต่อ หรือทำงานได้
นางจิตสมาน วารีขันธ์ นักวิจัยโครงการศึกษาสถานการณ์หนี้สินของชุมชนกุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวเสริมว่า ชาวบ้านที่มีสถานะเป็นผู้ปกครอง ได้ลดรายจ่ายทุกทางแล้ว แต่ไม่สามารถปฏิเสธค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรได้เลย ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายรายวัน/เดือน/ปี เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าขนม ค่ารถรับ-ส่งรายเดือน ค่าบำรุงการศึกษาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายจร อาทิ ค่าทำรายงาน ค่าเช่าชั่วโมงอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นคว้าข้อมูล, ค่ากินเลี้ยงในโอกาสพิเศษ ฯลฯ ที่น่าสนใจอีกรายการหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่โรงเรียนในภูมิภาคอื่นๆ เรียกเก็บ ก็คือค่าตัดผม ซึ่งจะเก็บแบบเหมาจ่ายเป็นรายปี เหมือนค่าบำรุงคอมพิวเตอร์
"ในฐานะพ่อแม่ ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกลำบากใจ หรือถูกมองอย่างแปลกแยก ดังนั้นจึงยอมอดออมทุกอย่าง เพื่อให้รายได้เพียงพอกับรายจ่าย แม้กระทั่งตัวลูกเองก็ถูกปลูกฝังให้รู้จักใช้จ่ายแบบมีสติ คิดก่อนจ่าย ร่วมกันประหยัดทุกวิถีทาง แต่เมื่อใดก็ตามที่ทางโรงเรียนเรียกเก็บเงิน ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธ หรือมีทางเลือกเลยว่าจะไม่จ่าย หรือแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ได้ไหม จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และหาทางช่วยเหลือผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยด้วย" นางจิตสมาน กล่าว
นายอิ่นแก้ว เรือนปานันท์ หัวหน้าโครงการรูปแบบการจัดการหนี้สินเชิงบูรณาการเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนบ้านดง ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง กล่าวในฐานะผู้ปกครองว่า รู้สึกลำบากใจทุกครั้ง ที่โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะในบ้านเองก็ประหยัดจนไม่รู้จะลดรายจ่ายส่วนไหนได้แล้ว กินพืชผักที่เก็บจากสวนครัวทุกมื้อ แทบไม่กินเนื้อ บางวันพ่อแม่ไม่ได้จ่ายเงินเลย แต่ต้องมีเตรียมไว้ให้ลูก อย่างน้อยที่สุดก็ติดตัวเป็นค่าอาหารกลางวันๆ ละ 20 บาท
เขาบอกว่า รายจ่ายบางอย่างจำเป็นต้องจ่ายแบบไม่คุ้มค่า เช่น ค่ากระเป๋าหนังสือ ซึ่งมีคุณภาพต่ำ ไม่สมกับราคา ใช้แค่สัปดาห์เดียวก็ฉีกขาด นอกจากนี้ โรงเรียนยังจ้างครูฝรั่งมาสอนหนังสือเด็กในอัตราเงินเดือนแพงมาก แทนที่จะจ้างครูคนไทย ที่จบเอกภาษาอังกฤษมาสอน ซึ่งสามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ถูกกว่ามาก และยังสื่อสารกับนักเรียนเข้าใจกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมา เด็กนักเรียนมักจะพูดคุยกันเสมอว่าเรียนกับครูฝรั่งไม่เข้าใจ จะซักถาม หรือสื่อสารกันก็ไม่รู้เรื่อง เนื่องจากครูพูด และฟังภาษาไทยไม่ได้ ขณะที่เด็กก็ขาดทักษะภาษาอังกฤษ อยากฝากให้ทางโรงเรียนช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยด้วย ที่เห็นชัดเจนก็คือ ชุดต่างๆ ที่กำหนดให้นักเรียนใช้ มีถึง 5 ชุด ใช้แค่ชุดละ 1 วัน คือ ชุดพละ ชุดกีฬาสี ชุดลูกเสือ/เนตรนารี ชุดนักเรียน และชุมม่อฮ่อม แต่บางชุดใช้แค่ปีเดียว ยังไม่ทันเก่าหรือขาด ก็เปลี่ยนแบบใหม่อีกแล้ว โดยเฉพาะชุดกีฬาสี ทำให้ผู้ปกครองต้องควักเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้านนายปัญญา แก้วกียูร ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ,) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ที่ผ่านมา ทาง สพฐ.เปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียนมีอิสระในการดำเนินงานพอสมควร อย่างชุดประจำท้องถิ่น เพื่อให้เด็กเกิดสำนึกรักถิ่นฐาน โรงเรียนต่างๆ ก็จะกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน บางแห่งใช้ชุดม่อฮ่อม บางแห่งตัดชุดพื้นเมืองผ้าฝ้าย บางโรงเรียนที่มีนักเรียนชนเผ่า ก็ใช้ชุดประจำเผ่าต่างๆ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายจึงไม่เท่ากัน แต่ข้อมูลบางอย่าง ที่รับทราบจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ เช่น 5 วันกำหนดให้ใช้ 5 ชุด หรือมีค่าเหมาจ่ายตัดผมด้วยนั้น จะนำไปพูดคุยกัน เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป.
IANDI COMUNICATION Co,Ltd.
E-mail: iandihome@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ