งานแถลงผลสำเร็จของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ "ความร่วมมือของพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2022 10:48 —ThaiPR.net

งานแถลงผลสำเร็จของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ

งานแถลงผลสำเร็จของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ "ความร่วมมือของพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ" วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารคลังสินค้า 11 ชั้น 2 บริษัท อจิลิตี้ จำกัด

ณัฐพล ปลื้ม! บ.ชั้นนำระดับโลก WD ดึงใช้วิจัยคลังสินค้าอัจฉริยะ ASRS ของไทย พลิกโฉม! อุตสาหกรรม Ware house ในประเทศ ย้ำ! พร้อมก้าวขึ้นแท่นผู้นำระบบ ASRS ของภูมิภาคอาเซียน คาด! ลดต้นทุน-ลดข้อผิดพลาด-ลดพื้นที่จัดเก็บ เพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จของผลงานวิจัยภายใต้โครงการอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ ที่ได้ถูกนำไปใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์โดย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการผลิตอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถ รวมทั้งลดข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ โดยงานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงแก้ปัญหาด้านต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะต้นทุนจากการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนในช่วงที่เกิดสภาวะขาดแรงงาน หรือการเกิดอัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้น ทำให้สถานประกอบการต้องแบกรับงบประมาณและการจัดการอบรมพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่ำ ซึ่งท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำการขยายธุรกิจได้ ดีพร้อม จึงได้นำนโยบาย DIPROM CARE เข้ามาช่วยดำเนินการ (E-Engagement) การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โดยการนำงานวิจัยมาพัฒนา "ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS" เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถปรับประยุกต์ระบบ ASRS มาใช้งานได้ภายใต้งบประมาณและสถานที่ที่จำกัด สามารถลดจำนวนพนักงานในคลังสินค้าได้ 30% ลดการใช้พลังงานในคลังสินค้าได้มากกว่า 70% เพิ่มการใช้ประโยชน์พื้นที่คลังสินค้าทั้งแนวนอนและแนวดิ่งได้มากกว่า 2 เท่าในการจัดเก็บและเรียกคืนสินค้า ช่วยลดข้อผิดพลาดและลดพื้นที่ในการจัดเก็บ ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยระบบ ASRS ได้นำเทคโนโลยี SASI (System Analyst and System Integration) ที่ได้มาตรฐาน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบ ทำให้ระบบ ASRS มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับระบบอัตโนมัติ ได้แก่ เครนยกสินค้าในแนวสูง ชั้นวางสินค้า (Stacker Crane) ชั้นวางสินค้า (Storage Rack) และโปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า (Warehouse Management System) ที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้ระบบ ASRS ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ รวมทั้งเพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีการผลิตและให้บริการระบบ ASRS เป็นของตนเองได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาสร้างผู้ประกอบการ SI (System Integrator) ที่จะร่วมพลิกอุตสาหกรรม Automated Warehouse ของประเทศ และสามารถพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกเทคโนโลยีระบบ ASRS สู่อาเซียนในอนาคต ทั้งนี้โครงการฯ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี และสามารถส่งมอบผลงานวิจัยพัฒนาโมดูลสำคัญได้สำเร็จตามเป้าหมาย เช่น การจัดทำมาตรฐานและกระบวนการออกแบบชั้นวางสินค้าภายใต้แรงในแนวดิ่ง รวมถึง Software ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณ ออกแบบ ผ่านการยืนยันความถูกต้องเปรียบเทียบกับการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยที่ผ่านมาทางคณะวิจัยและบริษัท แม่น้ำ เมคคานิกา จำกัด ได้นำผลงานจากโครงการฯ ไปขยายผลทางธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดปรับปรุงระบบจากเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะขยายผลเปิดให้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในการลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพในส่วนของห่วงโซ่อุปทานในสถานประกอบการ ทางบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้นำระบบ ASRS มาใช้ในการพัฒนาคลังสินค้าอัจฉริยะภายในอุตสาหกรรม เพื่อการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าระบบ ASRS เป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันสูงมากกว่า 5,000 ล้านบาท (ตัวเลขสถิติ ปี 2016) ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้จึงมีโอกาสทางการตลาดที่สูงมากสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศที่เหมาะสมกับสภาพตลาดและการใช้งานในประเทศ นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ASEAN ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถผลิตระบบ ASRS เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ ASEAN ได้ และยังสามารถพัฒนาระบบให้รองรับกับกิจกรรมเพื่อตอบสนองกับธุรกิจ E Commerce ที่มีอัตราเติบโตสูงมากได้

โอกาสนี้ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำกัด Mr.Sam Loke กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ร่วมด้วยคณะผู้วิจัย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เยี่ยมชมผลงานระบบ ASRS เนื่องจากระบบ ASRS ส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบัน เน้นเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนสูง และยังใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็น SME โดยระบบ ASRS ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ นี้ มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร และมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตารางเมตร ซึ่งเป็น Solution เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งการพัฒนา "ระบบ ASRS" นี้จะสามารถช่วยลดการนำเข้าระบบจากต่างประเทศได้ รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่าระบบ ASRS จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ 10 % หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เท่ากับ 400 ล้านบาทต่อปีหรือ 2000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ