แพทย์ไทยเตือนคนไทยระวังโรค MDS กลุ่มอาการเนื่องจากความผิดปกติของไขกระดูก

ข่าวทั่วไป Monday March 24, 2008 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
แพทย์ไทย เตือนคนไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ระวังเป็นโรคเลือด “เอ็มดีเอส” (MDS หรือเรียกเต็ม ๆ ว่าไมอีโลดิสพลาสติก ซินโดรม) แบบไม่รู้ตัว ระบุในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ประมาณ 87,000 ราย จากทั่วโลก โดยอาการผู้ป่วยขั้นแรกจะมีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังซีดผิดปกติ ฟกช้ำ เลือดออกมาก เป็นไข้ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการเหล่านี้ ต้องเร่งให้แพทย์เร่งวินิจฉัยต่อเนื่องโดยเร่งด่วน
รศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เปิดเผยถึงโรคเลือด “เอ็มดีเอส” ที่คนไทยควรต้องระวังว่า โรคนี้เป็นกลุ่มอาการของโรค ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูกที่พบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยโรค MDS จะมีความผิดปกติของไขกระดูก (โรงงานที่ร่างกายใช้ผลิตเม็ดเลือด) ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดได้อย่างเพียงพอ จนทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (หรือการที่มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ), ติดเชื้อง่าย และมีจ้ำเลือดผิดปกติ
โรค MDS แบ่งออกได้เป็น 8 ชนิด ตามระบบการจัดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานทั่วโลกในปัจจุบัน การที่แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยแตกต่างกันนั้น เป็นตัวชี้วัดที่ดีในการบ่งถึงการเปลี่ยนแปลงของโรคไปเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว และเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรค MDS ได้ดีมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญประการแรกคือ การเข้าใจถึงหน้าที่ของไขกระดูก ซึ่งมีสีแดง ลักษณะคล้ายฟองน้ำ อยู่บริเวณส่วนกลางกระดูก เซลล์เม็ดเลือดส่วนใหญ่ของร่างกายมีต้นกำเนิดมาจากไขกระดูก โดยเริ่มต้นจากเซลล์แม่ (stem cell) ซึ่งเป็นเซลล์ตั้งต้น ของเซลล์เม็ดเลือด โดยเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้จะแบ่งตัวให้เซลล์ที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เรียกว่า blast cells เมื่อ blast cells เจริญเติบโตเต็มที่ จะมีลักษณะเฉพาะซึ่งแบ่งออกเป็นเซลล์เม็ดเลือดหลัก 3 ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด
รศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล กล่าวต่อว่า ลักษณะอาการที่แสดงของโรค MDS เกือบครึงหนึ่งของผู้ป่วย จะไม่แสดงอาการเมื่อแพทย์วินิจฉัยในครั้งแรก เพียงแต่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังซีดผิดปกติ ฟกช้ำ เลือดออกมาก เป็นไข้ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง แต่อาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นผลมาจากจำนวนเม็ดเลือดที่ผิดปกติ โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MDS ประมาณ 87,000 ราย จากทั่วโลก สำหรับในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MDS ประมาณ 10,000 - 20,000 ราย ต่อปี สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่ทราบอุบัติการณ์ที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะพบอยู่ในอันดับต้น ๆของโรคทางโลหิตวิทยา
ถึงแม้ว่าโรค MDS จะพบได้ในทุกเพศและทุกเชื้อชาติ แต่จะพบได้บ่อยในเพศชายและคนผิวขาว (Caucasians) และยังพบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่ในบางครั้งก็พบได้ในเด็กเช่นกัน โดยสาเหตุของการเกิดโรค MDS ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค ที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทราบแน่นอนมี 2 ประการคือ การได้รับรังสีและยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง, MDS ซึ่งพบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ เช่น ความผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก และชนิดของความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยเอ็มดีเอสมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 15 ปีโดยพบปัญหาเล็กน้อย ไปจนถึงผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง รวดเร็ว และมีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 เดือนหลังจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยโรค สำหรับโรค MDS ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่ส่งต่อไปยังบุคคลในครอบครัว แต่จำนวน 30% ของผู้ป่วยที่เป็นโรค MDS จะพัฒนาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดฉับพลัน (acute leukemia) ได้
ในส่วนของการรักษาโรคเอ็มดีเอส หากเป็นระยะแรก ๆ จะรักษาด้วยวิธีการให้เลือด แต่การให้เลือดแต่ละครั้งจะมีผลต่อสภาวะเหล็กในร่างกาย ทำให้มีการสะสมของธาตุเหล็กใน ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องใช้ยาขับเหล็กควบคู่ไปกับการให้เลือด เพื่อกำจัดเหล็กที่มีปริมาณมากเกินไปออกจากร่างกาย ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะลุกลามจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จริงจังมากขึ้น อาจต้องใช้ยาเคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกร่วมด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการดูแลคนไข้เอ็มดีเอส คือ การให้กำลังใจผู้ป่วยเอ็มดีเอส ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันและรักษาปัญหาทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ อันเนื่องมาจากภาวะของโรคนี้ได้
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 หรือ 081-421- 5249

แท็ก พลาสติก   พีค  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ