มนัญญา เตรียมเปิดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร

ข่าวทั่วไป Monday August 15, 2022 08:53 —ThaiPR.net

มนัญญา เตรียมเปิดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เตรียมเปิดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เดินหน้าตามนโยบายนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมเชื่อมต่อนโยบายรัฐบาลโดย "กรมวิชาการเกษตร" จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (APEC High-Level Policy Dialogue on Agriculture Biotechnology: APEC HLPDAB) ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เพื่อเดินหน้าตามนโยบายนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรและการผลิตพืช

ด้วยสภาพแวดล้อมและบริบทระหว่างประเทศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ ความท้าทายในรูปแบบใหม่ อาทิ ภาวะโลกร้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาด้าน Food security ความเหลื่อมล้ำทางด้านต้นทุน ราคาสินค้าเกษตร การกระจายองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตพืช ความยากจน ล้วนเป็นปัญหาความท้าทายที่ไร้พรมแดน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศ ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมกันสร้างความร่วมมือและพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบที่เอื้ออำนวยต่อการเสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนานาประเทศ การศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับความท้าทายและการฟื้นฟูจากวิกฤติโควิด-19 ความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติต้องไม่ถูกมองข้าม โดยเฉพาะการเร่งขับเคลื่อน SDGs และการพัฒนาเศรฐกิจแบบโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับนโยบายตลาดนำการวิจัยที่เป็นนโยบายสืบเนื่องจากตลาดนำการผลิต โดยเป็นการดำเนินงานวิจัยของประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ความต้องการและความเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรรายย่อย เพื่อนำสังคมการเกษตรไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงทางอาหาร เพื่อความปลอดภัยในการผลิตพืชอาหารโดยระบบ GAP และ GAP plus รวมถึงเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลผลิตสำหรับการบริโภคในประเทศและการส่งออกนานาชาติ

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความสำเร็จของ SDGs, BCG Economy Models รวมถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่อย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบและยืนยันการเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรที่ปลอด GMOs เพื่อพัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัย และการผลิตทางการเกษตร ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสู่เป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารปี 2030 เช่น

1. การวิจัยระบบการทำฟาร์มไร้ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงเกษตรโดยกรมวิชาการเกษตรกำลังวางแผนที่จะทำงานร่วมกับองค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเพื่อยกระดับกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้มีอำนาจรับรองระบบการทำฟาร์มไร้ก๊าซเรือนกระจกทางด้านการเกษตร2. ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาโดยเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง เพื่อยกระดับคุณภาพและผลผลิต ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed-Hub) ของภูมิภาคเศรษฐกิจ APEC3. ให้ความร่วมมือและสนับสนุนร่วมกับภาคเอกชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ราคาเมล็ดพันธุ์ยุติธรรม มีราคาถูก และมีเหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อย4. ความร่วมมือกันในการแก้ไขและออกกฎระเบียบให้เอื้อต่อการวิจัยพัฒนา Biotechnology และ Modern Biotechnology ของภาคการเกษตร รวมถึงการอนุมัติการใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรที่มีความชัดเจนเพราะเกี่ยวเนื่องถึงการใช้ในภาคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Technology)5. ความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ USDA ในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การอบรมเสริมสร้าง Capacity building และการมีโปรแกรมวิจัยร่วมกัน6. การพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ กัญชา/กัญชง กระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

การจัดประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (HLPDAB) มีเป้าหมายให้ผู้กำหนดนโยบายสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค แลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปกป้องสิ่งแวดล้อม บรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การพัฒนางานวิจัย ความร่วมมือ กฎหมายและระเบียบทางด้านไบโอเทคโนโลยีเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตอบสนองต่อปัญหาและความท้าทายของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมครั้งนี้จะมีการนำประเด็นการหารือระดมความคิดถอดบทเรียนและมุมมองด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรและเทคโนโลยีการผลิตพืชของไทยจากอดีตสู่อนาคต ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากการระดมสมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมไว้ด้วยและจะนำไปใช้เป็นจุดยืนของประเทศไทยใน Declaration on APEC Food Security ของ APEC Food Security Ministerial Meeting ด้วย

"ผลจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ช่วยผลักดันด้านการค้าและการลงทุน ในยุคสังคมดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เกษตรกรและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตรสมัยใหม่เพื่อระบบอาหารที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ