สคร.12 สงขลา เตือน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ระวัง โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย เน้นย้ำ หากถูกสุนัข แมว กัดข่วน ให้รีบไฟพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนทันที

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2022 14:22 —ThaiPR.net

สคร.12 สงขลา เตือน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ระวัง โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย เน้นย้ำ หากถูกสุนัข แมว กัดข่วน ให้รีบไฟพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนทันที

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ระวัง โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย หากโดนสุนัข แมว กัดข่วน ให้รีบไฟพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนทันที แนะยึดหลัก 3 ป. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง วันที่ 19 กันยายน 2565 จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ได้ตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัข แมว โค จำนวน 20 หัว พบสัตว์มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดในจังหวัดสงขลา จำนวน 16 หัว รองลงมา จังหวัดพัทลุง จำนวน 4 หัว ซึ่งในปี 2561 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง จำนวน 4 ราย ซึ่งเกิดจากสัตว์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ผู้ป่วยทั้งหมดที่เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีนหลังถูกสัตว์กัด ข่วน

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชน เตือน หากโดนสุนัข แมว กัดข่วน ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็กแผลใหญ่ อย่าชะล่าใจ ให้ล้างแผลเบา ๆ บริเวณที่โดนสุนัข แมว กัดให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ และใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล (เบตาดีน) จากนั้นให้สังเกตอาการของสุนัข แมว เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนทันที หากสุนัข แมว มีอาการใกล้เคียงโรคพิษสุนัขบ้าหรือตาย ให้ติดต่อปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ ปัจจุบันส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตวแพทย์ ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 7 วัน หรือนานเป็นปี

สคร.12 สงขลา แนะพี่น้องประชาชนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ยึดหลัก 3 ป. คือ ปอที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2 - 4 เดือน และกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามที่แพทย์นัด และปีถัดไปฉีดกระตุ้นซ้ำ ปีละ 1 ครั้ง ทุกปี รวมไปถึงทำหมันถาวรเพื่อไม่ให้มีสุนัขมากเกินความต้องการ

ปอที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด โดยไม่ปล่อยสุนัขแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ

ปอที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ อย่างเบามืออย่างน้อย 15 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล (เบตาดีน) และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากได้รับวัคซีนต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด ทั้งนี้เมื่อถูกสัตว์ กัด ข่วนแล้วไม่ไปรับวัคซีน หากมีอาการของโรคจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้สำหรับการรักษา แต่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน เน้นย้ำ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ"

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ