เพจ "มนุษย์ต่างวัย" คว้ารางวัลพิเศษสำหรับการต่อสู้การเหยียดอายุ จาก Healthy Aging Prize for Asian Innovation ประจำปี 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2022 15:48 —ThaiPR.net

เพจ

ในวันนี้ศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Center for International Exchange - JCIE) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia - ERIA) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) ประจำปี 2565 โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ของการมอบรางวัล และถึงแม้จะมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกิดจากสถานกาณ์ COVID-19 แต่ในปีนี้ได้รับการสมัครเข้าร่วมจากองค์กรต่าง ๆ จาก 9 ประเทศหรือภูมิภาคในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากจำนวนผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดนั้น 8 องค์กรได้รับการยอมรับจากผลงานนวัตกรรมในด้านผู้สูงอายุ โดยผู้ที่ได้รับรางวัล Grand Prize และ Second Prize ได้รับการคัดเลือกใน 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเภทโครงการริเริ่มโดยชุมชน และประเภทการสนับสนุนการพึ่งพาตัวเอง การคัดเลือกทำโดยคณะกรรมการจากนานาชาติซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ 8 ท่านจากทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ ในปีนี้เพื่อเป็นการยกย่องแคมเปญการรณรงค์ระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการเหยียดอายุ (Global Campaign to Combat Ageism) ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะของสหประชาชาติ หรือ UN Decade of Healthy Ageing คณะกรรมการจึงได้มอบรางวัลพิเศษ 2022 Special Prize for Combatting Ageism อีกด้วย

กลุ่มผู้สมัครในปีนี้มีองค์กรจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น และมี 2 องค์กรจากจีนที่ได้รับรางวัล Grand Prize นอกจากนี้ เรายังเห็นแนวคิดที่มุ่งเน้นเรื่องภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมและสุขภาพสมอง และเป็นแนวคิดที่พยายามขจัดการเลือกปฎิบัติในสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีแอปพลิเคชันมากมายที่นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ที่ต้องการอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมของตนต่อไปเมื่ออายุมากขึ้น และพยายามสร้างประโยชน์ให้กับทั้งผู้สูงอายุและเศรษฐกิจในประเทศ

องค์กรที่ได้รับรางวัล Grand Prize และ Special Prize จะได้รับรางวัลในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ในช่วงท้ายของการประชุม AHWIN Forum ซึ่งเป็นงานเสวนาระดับสูงเกี่ยวกับประเด็นผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโดยหลายภาคส่วน ที่จะจัดขึ้นที่โรงแรมโตเกียว พรินซ์ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ผู้ได้รับรางวัล HAPI Grand Prize
ประเภทเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation)
ORANGE LINKS | ประเทศญี่ปุ่น
QR Code Jell สติ๊กเกอร์ติดเล็บสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ประเภทโครงการริเริ่มโดยชุมชน (Community-Based Initiatives)
Longzhen Senior Care | ประเทศจีน
โปรแกรมบริการผู้สูงอายุในชุมชนแบบครบวงจร

ประเภทสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง (Supporting Self-Reliance)
Shanghai Jinmei Care for the Elderly | ประเทศจีน
บ้านแห่งความทรงจำ (Memory Home)

รางวัลพิเศษสำหรับการต่อสู้การเหยียดอายุ
Boonmerit Media | ประเทศไทย
แคมเปญมนุษย์ต่างวัยบนสื่ออนไลน์

ผู้ได้รับรางวัล Second Prize
ประเภทเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) (คะแนนเท่ากัน)
SILVER WOOD Co. | ประเทศญี่ปุ่น
การจำลองภาวะสมองเสื่อมผ่านเทคโนโลยี VR
Mediva inc. | ประเทศญี่ปุ่น
"Dementia Eyes" ? สัมผัสประสบการณ์ภาวะสมองเสื่อมผ่านเทคโนโลยี AR

ประเภทโครงการริเริ่มโดยชุมชน (Community-Based Initiatives)
Odekake Rehabilitation Promotion Council | ประเทศญี่ปุ่น
การส่งเสริมการออกนอกบ้านสำหรับผู้สูงอายุและการฟื้นฟูเชิงพาณิชย์

ประเภทสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง (Supporting Self-Reliance)
Takarazuka City Collaborative Community-Building Council | ประเทศญี่ปุ่น
การทดลองการจ้างงานที่ดีต่อสุขภาพและมีจุดมุ่งหมาย

ข้อมูลเพิ่มเติมของผู้ที่ได้รับรางวัล Grand Prize ประจำปี 2565
ประเภท Technology & Innovation
ORANGE LINKS | ประเทศญี่ปุ่น
QR Code Jell สติ๊กเกอร์ติดเล็บสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
ในแต่ละปีผู้คนหลายพันคนที่อยู่ในภาวะสมองเสื่อม เดินออกไปด้วยความสับสนและหาทางกลับบ้านไม่ได้ ซึ่งในปี 2563 ทางการญี่ปุ่นได้รายงานผู้สูญหายมากกว่า 17,000 ราย เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ORANGE LINKS ได้สร้างสติกเกอร์กันน้ำขนาดเล็กที่ติดอยู่บนเล็บมือและมีรหัส QR Code ส่วนบุคคล เมื่อสแกนด้วยสมาร์ทโฟน จะเห็นรายละเอียดข้อมูลผู้ติดต่อที่กำหนดไว้ (เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือสถานดูแล) โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ โดยสติกเกอร์มีอายุการใช้งานสองสัปดาห์ ดังนั้นข้อมูลจึงปลอดภัยไม่สามารถหลุดออกไปได้ซึ่งต่างจากอุปกรณ์สวมใส่อื่น ๆ ORANGE LINKS ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ตำรวจ และบริษัทรถไฟในญี่ปุ่น ในการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับวิธีการช่วยเหลือผู้เร่ร่อนที่มีภาวะสมองเสื่อม นวัตกรรมนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์ คุ้มค่า และเข้าถึงได้ง่ายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่

ประเภท Community-Based Initiatives
Longzhen Senior Care | ประเทศจีน
โปรแกรมการให้บริการผู้สูงอายุในชุมชนแบบครบวงจร
ในภูมิภาคจินซงของกรุงปักกิ่ง ผู้คนหลายพันคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีลิฟต์ ทำให้ยากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน Longzhen Senior Care ผู้ดำเนินการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตระหนักว่าพื้นที่หลายแห่งมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ที่บ้าน และไม่สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ในชุมชนได้ ทำให้พวกเขาได้พัฒนาโปรแกรมบริการผู้สูงอายุแบบครบวงจรแบบไม่มีค่าใช้จ่าย (one-stop community elderly service program) โดยประเมินความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละคน และประสานงานกับนักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครในการจัดเตรียมทุกอย่างตั้งแต่สถานดูแลผู้สูงอายุ และบริการทางการแพทย์ที่บ้าน ไปจนถึงช่างซ่อมบำรุง การตอบรับการแจ้งเตือนฉุกเฉิน บริการส่งอาหารถึงบ้าน ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย บริการช่วยซื้อสินค้า และอื่น ๆ โครงการนี้ได้รับการคัดเลือกจากการตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน และความต้องการของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการที่มีคุณภาพด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ประเภท Supporting Self-Reliance
Shanghai Jinmei Care for the Elderly | ประเทศจีน
บ้านแห่งความทรงจำ (Memory Home)
ในประเทศจีนแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อม แต่ยังขาดการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ Jinmei Care กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้โดยปรับโมเดลจากต่างประเทศให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในจีนเพื่อสร้าง "Memory Home" ซึ่งเป็นชุมชนที่นักสังคมสงเคราะห์ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงครอบครัวและโปรแกรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ครอบคลุมเกือบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม ตั้งแต่การสนับสนุนและให้ความรู้ก่อนการวินิจฉัย ไปจนถึงการช่วยเหลือและการรักษาแบบ intervention หลังการวินิจฉัย พวกเขายังส่งเสริมการสร้างความเข้าใจของประชาชนและช่วยขจัดภาวะสมองเสื่อมด้วยการสร้าง Memory Cafe และเครือข่ายอาสาสมัครที่ชื่อว่า "Dementia-Friends" Jinmei Care ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ที่สนับสนุนการขยายตัวของ Memory Home ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia-Friendly Community Construction Project) โดยโมเดลนี้ได้รับเลือกให้เป็นโมเดลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและครอบครัว เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังและความภาคภูมิ

รางวัลพิเศษสำหรับการต่อสู้การเหยียดอายุ
ในการรณรงค์ของสหประชาชาติผ่านแคมเปญการต่อต้านการเหยียดอายุทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ คณะกรรมการคัดเลือกจาก HAPI ได้มอบรางวัลพิเศษให้กับ บุญมีฤทธิ์ มีเดีย สำหรับแนวคิดมนุษย์ต่างวัยที่สนับสนุนการต่อสู้การเหยียดอายุ

Boonmerit Media | ประเทศไทย
แคมเปญมนุษย์ต่างวัยบนสื่ออนไลน์
บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ บุญมีฤทธิ์ มีเดียได้เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อว่า "มนุษย์ต่างวัย" เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัยที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยถ่ายทอดเรื่องราวที่ช่วยสร้างความตระหนัก ลดช่องว่าง และสร้างทัศนคติเชิงบวกระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ ความคิดนี้มีเป้าหมายในการช่วยผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง และมีเป้าหมายในการช่วยให้กลุ่มเยาวชนเข้าใจว่าความเป็นอยู่ที่ดีในวัยหลังเกษียณ (ด้านการเงิน ร่างกาย และอารมณ์) นั้นจำเป็นต้องมีวางแผน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ต่างวัย คือการลดช่องว่างระหว่างคนรุ่นต่าง ๆ ในประเทศ และสร้างสังคมสำหรับคนทุกวัย เยาวชนและผู้สูงอายุทำงานร่วมกันเพื่อผลิตเนื้อหาบน Facebook, YouTube และ TikTok ผ่านการนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายและเป็นเรื่องราวเชิงบวกของผู้สูงอายุ เช่น บริการจัดส่งอาหารโดยคุณยายวัย 75 ปีกับหลานชายวัย 20 ปี หรือนักสเก็ตบอร์ดวัย 62 ปี โดยในเวลาเพียงแค่ 3 ปี มนุษย์ต่างวัยมียอดผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน และมีผู้เข้ามามีส่วนร่วมถึง 10 ล้านคน

ผู้ได้รับรางวัล Second Prize
ประเภท Technology & Innovation (คะแนนเท่ากัน)
SILVER WOOD Co., Ltd. | ประเทศญี่ปุ่น
การจำลองภาวะสมองเสื่อมผ่านเทคโนโลยี VR
โปรแกรมนี้ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) และผู้ให้บริการที่ผ่านการฝึกอบรม โปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้ดูแล พยาบาล สมาชิกในครอบครัว และบุคคลทั่วไป ได้สัมผัสกับอาการของภาวะสมองเสื่อมผ่านมุมมองโดยตรง ได้สัมผัสถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

Mediva inc. | ประเทศญี่ปุ่น
"Dementia Eyes" ? สัมผัสประสบการณ์ภาวะสมองเสื่อมผ่านเทคโนโลยี AR
โปรแกรมการฝึกอบรมที่ใช้ฟิลเตอร์เสมือนจริง (AR) เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ภาพที่ผู้เป็นโรคอัลไซเมอร์ประสบ เช่น ระยะการมองเห็นที่แคบลง ซึ่งต่างจาก VR ที่สร้างสถานที่เสมือนจริง เทคโนโลยี AR ช่วยให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับเอฟเฟกต์นี้ในสภาพแวดล้อมจริง ทำให้พวกเขาได้คิดถึงวิธีการดูแลผู้ป่วยและการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ประเภท Community-Based Initiatives
Odekake Rehabilitation Promotion Council | ประเทศญี่ปุ่น
การส่งเสริมการออกนอกบ้านสำหรับผู้สูงอายุและการฟื้นฟูเชิงพาณิชย์
โปรแกรมสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่ผสมผสานแนวคิด "การช็อปปิ้ง การรับประทานอาหาร และการพักผ่อนหย่อนใจ" เข้ากับ "กิจกรรม กีฬา และปฏิสัมพันธ์" เพื่อสร้างการฟื้นฟูรูปแบบใหม่ ในขณะเดียวกัน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการดำเนินกิจกรรมในย่านการค้า

ประเภท Supporting Self-Reliance
Takarazuka City Collaborative Community-Building Council | ประเทศญี่ปุ่น
การทดลองการจ้างงานที่ดีต่อสุขภาพและมีจุดมุ่งหมาย
รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นจับคู่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงที่ต้องการทำงานกับสถานพยาบาลและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับมอบหมายงานเบา ๆ เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อทดลองงาน และสามารถทำงานต่อไปได้หากพวกเขาต้องการ ระยะเวลาทดลองงานช่วยลดอุปสรรคในการมีส่วนร่วม และงานเหล่านี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้สึกว่าเป็นที่ต้องการของสังคม

สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับรางวัลบนเว็บไซต์ www.ahwin.org


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ