ม.มหิดล เตือนคนรุ่นใหม่เสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

ข่าวทั่วไป Monday October 3, 2022 13:28 —ThaiPR.net

ม.มหิดล เตือนคนรุ่นใหม่เสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม

"สื่อ" ในสมัยที่ยังมีไม่หลากหลาย ต้องนำเสนอภายใต้การควบคุมเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันในยุคแห่งโลกไร้พรมแดนที่ท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทุกคนเป็นได้ทั้ง "ผู้เสพสื่อ" และ "ผู้สร้างสื่อ" ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ยังคงคลุมเครือว่าอะไรคือ "ขอบเขต"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัดประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงทัศนคติถึงทิศทางการเรียนรู้ของสังคมที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเป็นไปในลักษณะของ"Edutainment" หรือ "เรียนปนเล่น" ซึ่งมาจากคำว่า"Education" บวกกับคำว่า "Entertainment" แต่ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสู่สื่อออนไลน์ พบว่าการนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเพื่อความบันเทิง แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถใช้ได้จริง ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ "สื่อสุขภาพ"

ซึ่งสื่อสุขภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอโดย "กูรูผู้รู้จริง" เนื่องจากอาจส่งผลกระทบถึงชีวิตหาก "เสพ" และ"สร้าง" อย่างประมาท ซึ่งการนำเสนอที่สร้างสรรค์นั้นไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการ อาจเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเนื้อหาสาระที่ "เข้าถึงง่าย" และ "นำไปใช้ได้จริง" โดย "ตอบโจทย์" ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

จากประสบการณ์ด้านจิตสังคมบำบัดที่มีมาอย่างยาวนาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้ค้นพบ"ศิลปะการสร้างตัวตนบนสังคมออนไลน์ที่ได้คุณภาพ" ว่า จะต้องมีการเพิ่มเติม "Receipt" ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อหาที่ครบพร้อมทั้ง "อรรถรส" และ "คุณค่า"

หนึ่งใน Receipt ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์เข็มทอง แนะนำ คือ การใช้เทคนิค "Parasocial interaction" หรือการนำเสนอ "ประสบการณ์กึ่งความจริง" ซึ่งเป็นการสร้างเนื้อหาแบบ "เจาะลึก" เพื่อให้ผู้เสพสื่อได้รับประโยชน์ในเวลาอันสั้น

สื่อสุขภาพในปัจจุบันส่วนใหญ่มีเนื้อหาเพื่อการดูแลสุขภาพแบบ "how to" ให้ได้ลองไปทำตามกันมากมาย แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีนักสร้างเนื้อหาไทยสนใจเจาะลึกเรื่อง "ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย" อย่างจริงจังกันมากเท่าใดนัก

ยังมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบปัญหาภาวะซึมเศร้าซึ่งการเสพสื่อที่ให้เพียงความบันเทิงอาจช่วยผ่อนคลายได้ในบางเวลา แต่ไม่ยั่งยืนเท่ากับการทำสื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ และได้เรียนรู้ที่จะป้องกัน และช่วยดูแล

และยังมี "คนไร้ที่พึ่ง" อีกมากมายที่รอคอยความช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความรู้สึก "ไร้คนเหลียวแล" ขอเพียง "กำลังใจ" และ "พื้นที่ปลดปล่อยเสียงร้องไห้" จากการได้รับโอกาสให้บอกเล่าถึง "ความรู้สึกโดดเดี่ยวอันโหดร้าย" ที่อยู่ภายใน ให้สังคมได้รับรู้ และเกิดความเข้าใจ

ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ของคนไทย ที่ได้เป็นตัวแทนของ"Micro Influencer" หรือ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" เข้าร่วม "e-TRIGGER" (e TRaining In Gerontology and GERiatrics) เพื่อการดูแลผู้สูงวัยระดับทวีปเอเชีย พร้อมทั้งยังคงทำหน้าที่จิตอาสา "จิตสังคมบำบัด" ทางเพจ "โปรแกรมรักษาคนดี" โดยไม่หวังผลตอบแทนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยเชื่อว่าหากทุกคนช่วยกันเสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบ จะทำให้สังคมดีขึ้น และประเทศชาติอยู่รอดต่อไปอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน .


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ