กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บุกภูเก็ตให้ความรู้ ความเข้าใจ พร้อมดันการค้า รอบด้าน ไทย — อินเดีย ด้วยสัมมนา “ตะลุยภารตะ: ขุมทรัพย์ทางการค้า”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 1, 2008 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
หลังจากประสบความสำเร็จจากการจัดสัมมนาเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่องในการสร้างความรู้ ความเข้าใจตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในกรอบไทย-อินเดียอาเซียน-อินเดีย ในหัวข้อ “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ จ.ภูเก็ต โดย นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “เรากำหนดให้อินเดียเป็น ยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากศักยภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP ร้อยละ 8 ต่อปี เศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากจีน ประกอบกับแนวคิดที่สอดคล้องกันในการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกัน และเป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนระหว่างกันด้วย”
สำหรับการเปิดสัมมนาครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า
“จังหวัดภูเก็ตมีความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญประกอบด้วย อุตสาหกรรมถลุงแร่ดีบุก อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา อุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ชาวภูเก็ตยังมีอาชีพทำสวนยางพารา ทำประมง โดยมีเรือจับปลาทูน่าที่ทันสมัย จับปลาในน่านน้ำแถบมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบัน มีต่างชาติมาดำเนินการขออนุญาตทำงานในภูเก็ตจำนวนมาก ตอนนี้ก็เป็นยุคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในภูเก็ตมากตามลำดับ คือ ออสเตรเลีย เกาหลี เยอรมัน อังกฤษ สแกนดิเนเวียน ส่วนชาวอินเดียที่มาเที่ยวเมืองไทยยังน้อยอยู่”
ท่านผู้ว่าฯ กล่าวต่อว่า “เมื่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาจัดสัมมนาที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโอกาสและศักยภาพของตลาดอินเดีย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดีย โดยเชิญผู้ที่มีความรู้ ทั้งผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในอินเดีย ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอินเดีย เข้ามาร่วมเสวนาแสดงทัศนะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดอินเดีย ผมจึงถือว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการสัมมนาที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่จะได้มีโอกาสเข้ามา เก็บเกี่ยวความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง พร้อมนี้ยังมีโอกาสได้ซักถามปัญหาและร่วมแสดงข้อคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางได้อย่างหลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะตะลุยเข้าไปในดินแดน ภารตะ ขุมทรัพย์การค้าแห่งนี้”
ทางด้านวิทยากรที่มาบรรยายในครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ตรงเรื่องการทำธุรกิจและติดต่อราชการกับคนอินเดีย โดยคุณบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะคณะเจรจากรอบความตกลงกับอินเดียกล่าวบรรยายในหัวข้อ “มารู้จักตลาดอินเดีย” ว่า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมองว่าอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรเป็นอันดับสองรองจากประเทศจีน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตังสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายของประเทศไทยกับอินเดีย สอดคล้องกัน คืออินเดียมีนโยบาย Look West ในขณะที่ไทยมีนโยบาย Look East ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้เปิดการค้าเสรีทวิภาคี โดยยกเลิกภาษีสินค้า 0% จำนวน 82 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2549 อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล และปู อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากลดภาษีสินค้า 82 รายการ ส่งผลให้การค้าขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2550 การค้ารวมไทย-อินเดียมีมูลค่า 4,730.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38% โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 598.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาลด และยกเลิกภาษีสินค้าส่วนที่เหลือกว่า3,000 รายการ”
ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า “ทั้งนี้การค้าขายกับอินเดียมีปัญหา และอุปสรรค เช่น อินเดียเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง และยังมีการเก็บภาษีอื่นๆภายในประเทศ สำหรับระบบพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล่าช้า ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการขนถ่ายสินค้า และมีพื้นที่ขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้มีการลอกเลียนแบบสินค้าเกิดขึ้นจำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งการเจรจาการค้าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรคและบรรเทาปัญหาลงได้”
ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กล่าวเสริมว่า “เรามีมูลค่าการค้ากับอินเดียยังมีน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ท่านต้องมองให้เห็นป็นโอกาส เพราะในอินเดียมีศักยภาพในการเติบโต ภายใต้กรอบความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในหลายทั้งในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค อาทิ อาเซียนอินเดีย BIMSTEC, ASEM, WTO ประกอบกับที่เรามีความสัมพันธ์กับอินเดียมาช้านานในเรื่องวัฒนธรรม ศาสนา และความใกล้ชิดโดยเราเพิ่งฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 60 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา”
ด้านคุณประกอบ ปัญจเจริญศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เล่าถึงโอกาสในการเจาะตลาดอินเดียเมื่อได้มีโอกาสไปทำงานที่อินเดียว่า “อินเดียเป็นประเทศที่มีอำนาจในการซื้อสูงและเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการสามารถที่จะเจาะตลาดอินเดียได้ในทุกระดับ ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็มีความช่วยเหลือโดยช่วยหักล้างถางพงเข้าไปสู่อินเดีย
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กล่าวต่อว่า “ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่ ท้าทายและเย้ายวน เพราะถ้าสำเร็จที่นี่ก็สามารถสู้ตลาดที่ไหนในโลกได้ การเตรียมตัวสำหรับจะเข้าถึงตลาดอินเดียก็ต้องใจสู้พร้อมลุย มีความจริงใจ จริงจัง เมื่อจะเข้าไปตลาดอินเดียก็ควรเข้าไปศึกษาข้อมูลไปดูตลาดก่อน รวมทั้งการไปขอความช่วยเหลือจากพาณิชย์ ไปร่วมกับกรมส่งออกในการไปออกงานแสดงสินค้าหรือการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงอาจจะไปหาผู้นำเข้าที่เป็นพันธมิตรคู่ค้าในอินเดียได้ ทางด้านสินค้าก็ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการรักษาคุณภาพของสินค้า ยกตัวอย่างเสื้อผ้า ทั้งที่อินเดียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก แต่ก็ยังสามารถที่จะส่งออกไปได้ เพียงแต่มีความรู้จริง เพียงแต่ไปและยึดให้ได้ด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ”
ด้าน ดร.อนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย และกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน ) กล่าวถึงประสบการณ์ในการทำตลาดในอินเดียว่า “เดลต้าเข้าไปสู่อินเดียในปี 2003 ได้เพราะว่าไปอินเดียแล้วเจอไฟดับจึงเห็นโอกาสในตลาดอินเดีย เมื่ออินเดียเองมีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า เราลงทุนสร้างโรงงานในหลายแห่งเพื่อผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาย อาทิ เครื่องสำรองไฟคอมพิวเตอร์ หรือ UPS บริษัทเราเป็นอันดับที่ 97 ของอินเดีย ซึ่งสร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จนในปี 2550 ที่ผ่านมาสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐและมีนโยบายลงทุนสร้างโรงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกำลังจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ขนาด 2,000 คนที่ตอนเหนือของอินเดีย จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ คนอินเดียต้องการให้เปิดโรงงาน นำงินมาลงทุนและเกิดการจ้างงาน ต้องการเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้า มีระบบชั้นวรรณะที่ดีมาก ชอบการเจรจา รวมถึงมีความยืดหยุ่นสูง”
ด้านคุณพิชยา สายแสงจันทร์ หัวหน้างานพัฒนาและส่งเสริมการตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวว่า “นานาประเทศสนใจตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียกันมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวขาออกเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเป็น 8 ล้านคน ภายใน 5 ปี โดยมาเที่ยวเมืองไทยมากเป็นอันดับ 5 ของอินเดีย ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2550 ที่ผ่านมา เข้ามาจำนวน 536,356 คน ส่วนใหญ่มาเที่ยวถึง 73.58 % และเข้ามาทำธุรกิจ 13.37% และปีหน้า ททท. ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่ม คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 622,172 คน โดยส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวในกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ เป็นต้น นักท่องเที่ยวมาเยอะเช่วง ปิดเทอม ระหว่างเดือน เม.ย. - ก.ค. เทศกาลปีใหม่ ต.ค.— พ.ย. มาแต่งงาน หรือฮันนีมูน เดือน พ.ย.-ม.ค. และคริสต์มาส เดือน ธ.ค.- ม.ค. เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่คนอินเดียชอบมากที่สุด คือ Theme Park อาทิ สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ สยามนิรมิต ภูเก็ตแฟนตาซี และชอบช็อปปิ้ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายวันละ 4,700-5,000 บาท มากกว่านักท่องเที่ยวจีน ส่วนธุรกิจไทยที่คนอินเดียสนใจ และมีโอกาสเติบโคสูง ประกอบด้วย ธุรกิจ Medical ด้านการแพทย์ และดูแลสุขภาพ ไทยถือเป็นอันดับ 1 ในเอเชียใต้ ที่มีคุณภาพสูง การบริการดี แต่ราคาไม่แพง , ธุรกิจจัดงานแต่งงาน และฮันนีมูน, การถ่ายภาพยนตร์ เพราะอินเดีย มีบริษัททำหนังยักษ์ใหญ่มากมาย และธุรกิจ MICE การจัดประชุม และสัมมนา”
คุณพิชยากล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยบวกในการส่งเสริมด้านท่องเที่ยวสำหรับอินเดีย คือ ความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของอินเดียทำให้เกิดนักท่องเที่ยวอินเดียมากขึ้น ความสะดวกในการขอวีซ่า ความรู้สึกว่ามาเมืองไทยแล้วคุ้มค่า เนื่องจากค่าเงินใกล้เคียงกัน นอกจากนี้เมืองไทยยังเป็นเมืองพุทธ มีวัฒนธรรมบางอย่างที่ใกล้เคียงกับอินเดีย รวมถึงความหลากหลายในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น รวมถึงการทำการตลาดแนวรุกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละปี ททท. เข้าทำการตลาดในอินเดีย ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง”
คุณบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับงานสัมมนาดังกล่าว มีผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อาทิ โรงแรม , ทัวร์ , สปา , บริการ สินค้า OTOP , และประมง เป็นต้น มาร่วมงานและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งกรมจรจาการค้าจะยังคงจัดสัมมนาในภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมจะจัดที่ จังหวัดขอนแก่น, เดือนกรกกฎาคมจังหวัดจันทบุรีและครั้งสุดท้ายที่เดือนสิงหาคมที่กรุงเทพฯ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมฝ่ายประชาสัมพันธ์งานสัมมนาฯ
ปิยะนันท์ โทร. 02-704-7958 ต่อ 201 - 205 และ081-714-6700

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ