จุฬาฯ แนะผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ปรับตัว สร้างมูลค่า เปลี่ยนลูกค้าเป็นเพื่อน เตือนสงครามหั่นราคาพาธุรกิจล้ม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 16, 2022 08:59 —ThaiPR.net

จุฬาฯ แนะผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ปรับตัว สร้างมูลค่า เปลี่ยนลูกค้าเป็นเพื่อน เตือนสงครามหั่นราคาพาธุรกิจล้ม

งานเสวนาด้าน Logistics และ Supply Chain ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ จัดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะผู้ประกอบการขนส่งสินค้าปรับตัว สร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้ธุรกิจ เปลี่ยนลูกค้าให้เป็นเพื่อน เตือนสงครามหั่นราคา อาจทำให้ธุรกิจพังทั้งระบบ

บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาออนไลน์ "CUGS Special Talks Ep. 7 เรื่อง "Beyond Digital Supply Chain in the New Normal" เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม 702 อาคารจามจุรี 10 โดยมี รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ และ อ.พันตรี ดร.ราเชน มีศรี รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดเสวนา เนื้อหางานเสวนาเน้นประเด็นการบริหารจัดการและการปรับตัวของธุรกิจ Logistics & Supply Chain ในยุคดิจิทัลที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป (new normal) อันเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล และ ศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าวว่าในปัจจุบัน หลังจากมีมาตรการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเห็นได้ว่ามีการกลับมาของอุปทานหรือความต้องการของผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือการขนส่งสินค้า แต่ภาคธุรกิจยังคงขาดแคลนกำลังคนที่จะเข้ามาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศจนแน่นท่าอากาศยาน หรือปัญหาการขนส่งที่ล่าช้าของผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการธุรกิจ logistics และ supply chain เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของความนิยมในการขนส่งแบบ last mile delivery การดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ circular supply chain การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (digital transformation) ผู้ประกอบการควรพัฒนาศักยภาพด้านนี้เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นการทำงานและการบริการให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

"โจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับผู้ประกอบการในปัจจุบัน คือเรื่องของการบริหารต้นทุน การเรียกราคาเพิ่มน่าจะทำได้ยาก มองในมุมของผู้ประกอบการ คงเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาปรับใช้ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพการบริการที่ดีกว่าให้กับลูกค้า โดยที่ไม่ทำให้ค่าบริการต่าง ๆ สูงขึ้น" รศ.ดร.มาโนช กล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่กล่าวว่านับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งที่ธุรกิจ logistic ต้องเจอเหมือนๆ กันคือปัญหาที่ไม่เคยมีใครเคยเจอมาก่อน ทั้งการปรับเปลี่ยน การลดขนาด ปรับลดการทำงานในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีอุปทานกลับเข้ามา รวมเข้ากับการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ภาคธุรกิจจึงประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนทำงานในภาคขนส่งโลจิสติกส์ ประกอบกับการที่ลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง จึงทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาหรือที่เรียกว่า price war ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจในภาพรวม

"สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ต่อไป คือการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะอยู่บนออนไลน์มากขึ้น การแข่งขันก็เพิ่มมากขึ้นมหาศาล สิ่งที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ได้เห็นคือความต้องการด้านการขนส่งในหลายรูปแบบ ซึ่งเราต้องเตรียมรับมือ เช่น การขนส่งโดยร่วมมือกับ co- chain ต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งความสามารถในการหา specialty หรือความสามารถเฉพาะในการขนส่ง ยกตัวอย่าง เช่น การขนส่งต้นไม้ ผลไม้ ที่แต่ละชนิด ก็ต้องการการขนส่งที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างมูลค่าหรือ value ให้กับธุรกิจ และทำให้เราไม่ต้องไปอยู่ในเกมของการทำสงครามราคา"

ด้าน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า หากโควิดกลายพันธุ์ได้ ผู้บริโภคก็กลายพันธุ์ไปด้วย ในทางการตลาดเกิดหัวข้อใหม่ที่น่าสนใจเรียกว่า customer mutation ซึ่งเป็น new normal ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะสั้นที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ logistics และ supply chain ประกอบด้วย 4 พฤติกรรม ได้แก่

  • No Touch การขนส่งแบบเลี่ยงการสัมผัส เช่น การเกิดขึ้นของ Less Paper และ Prompt Post ของไปรษณีย์ไทย เพื่อลดการส่งเอกสารโดยการสัมผัส
  • No Move คุ้นชินกับการอยู่ติดบ้าน มีการซื้อของ ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น หากมองในแง่ดี สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อธุรกิจการขนส่งโลจิสติกส์ แต่ในอีกมุม เริ่มมีบริษัทที่ไม่ใช่โลจิสติกส์เข้ามาแข่งขันด้วย เช่น ร้านสะดวกซื้อที่ส่งแบบเดลิเวอรี่เอง เป็นต้น ที่อาจพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธุรกิจโลจิสติกส์
  • No Share ไม่ใช้อะไรร่วมกันเนื่องจากเกิดความกลัวเรื่องสุขอนามัย ซึ่งบริษัทขนส่งโลจิสติกส์สามารถอธิบายเรื่อง ไม่แชร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริการของตนได้
  • No Premium เน้นประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น จ่าย add on ตัวเลือกพิเศษในการขนส่งสินค้าน้อยลง ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา

"เมื่อไหร่ก็ตามที่เล่นกับราคา หรือเกิดสงครามราคาขึ้นมา สงครามแปลว่าเจ็บทุกคน ในฐานะนักวิชาการต้องสะกิดใจคนในอุตสาหกรรมว่าเขาไม่เล่นกัน ต้องคิดให้มากในเรื่องของราคา ท่านลดได้ รายอื่นก็ลดได้ สุดท้ายคือเจ็บทุกคน เมื่อลูกค้าไม่ซื้อ premium ท่านต้องไปลดต้นทุนที่ไม่ควรจะมีลง อย่าให้ในสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการและไม่พร้อมจ่าย"

ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวต่อว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศ Marketing 6.0 หรือ Meta Marketing ที่หมายถึงการตลาดใน metaverse บริษัทขนส่งต่าง ๆ จะต้องจะทำการบ้านเพื่อปรับตัวว่าจะเข้าไปทำการตลาดหรือให้บริการในโลก metaverse ได้อย่างไร หากคิดไม่ทันโอกาสอาจจะน้อยกว่าคู่แข่ง เพราะทำธุรกิจอยู่ในโลกเดียว นอกจากนี้ยังแนะให้ผู้ประกอบการพิจารณาเรื่องของ customization ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ประกอบการเปลี่ยนลูกค้าให้เป็นเพื่อน หรือจาก customer ให้เป็น friendsumer สำหรับเวลาที่ผู้ประกอบการผิดพลาด ลูกค้าจะยังคงเข้าอกเข้าใจ รวมทั้งใช้มุมมองของ demand chian ให้มากกว่า supply chain คือรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรเป็นหลัก เพื่อปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน

ผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนา "CUGS Special Talks Ep. 7 เรื่อง "Beyond Digital Supply Chain in the New Normal" ย้อนหลังได้ที่ Facebook: Gradschoolchula และ YouTube: gradchula หรือ Facebook : Chulalongkorn University


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ