ชาวประมงมีเฮ !!! "เฉลิมชัย" ห่วงใยชาวประมง เร่งดีเดย์สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง 5 พันล้าน เปิดยื่นกู้ 15 ธันวาคมนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday November 29, 2022 09:01 —ThaiPR.net

ชาวประมงมีเฮ !!!

ชาวประมงมีเฮ !!! "เฉลิมชัย" ห่วงใยชาวประมง เร่งดีเดย์สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง 5 พันล้าน เปิดยื่นกู้ 15 ธันวาคมนี้ "อลงกรณ์" มอบกรมประมงจับมือกรมเจ้าท่า เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนเรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว เพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ให้ชาวประมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 5/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ zoom cloud meeting ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง (เมื่อวันที่ 24 พ.ย.65) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายอำนวย คงพรหม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล นางสาวสัมพันธ์ ปานจรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้แทนองค์การสะพานปลา และผู้แทนองค์กรการประมง เช่น ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมประนอกน่านน้ำ ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ฯลฯ โดยมี นายพัฒนพงศ์ ชูแสง ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เป็นเลขานุการการประชุม

ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามโครงการ ดังนี้

1) คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้สนับสนุนการดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ (Aqua Feed & Ornamental Fish Industry : AFOF) และมอบหมายกรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมพิจารณาหารือในการสนับสนุนงบประมาณหรือการลงทุนจากภาคเอกชนโครงการนี้

2) ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการใช้ประโยชน์เรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว โดยมอบหมายกรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ จัดประชุมหารือในความร่วมมือกับตัวแทนองค์กรประมง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางออกใบอนุญาตทะเบียนเรือประมงเพื่อการท่องเที่ยว สามารถประกอบการทั้งประเภทท่องเที่ยวจับสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น ๆ เช่น การดูปลาวาฬบรูดา และการดำน้ำเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวประมง ได้แก่

(1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ระยะที่ 2 โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงดำเนินการ สำหรับวงเงินสินเชื่อแบ่งเป็น (1.1) ธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท (1.2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการด้านสินเชื่อ ระยะที่ 2 ซึ่งมีอธิบดีกรมประมง เป็นประธาน จะมีการประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืม ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 จากนั้นหน่วยงานในพื้นที่จะทำการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวประมงมายื่นความประสงค์ขอกู้ยืม ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยพี่น้องชาวประมงจึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมอบกรมประมงเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว เพื่อเป็นสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ

(2) ความก้าวหน้าการดำเนินงานคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. ?. และ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ. ?.ซึ่งกรมประมงได้มีการปรับปรุงร่างดังกล่าว และได้จัดทำหน้งสือเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

(3) รับทราบโครงการน้ำมันเพื่อการประมง เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพาณิชย์และพื้นบ้านในการลดต้นทุนกการประกอบอาชีพประมง

(4) ความคืบหน้าโครงการนำเรืออกนอกระบบ โดยวิธีบริหารจัดการแบบใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า

(5) ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การส่งเสริมการปลูกป่าโกงกาง การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล การเพิ่มหญ้าทะเลที่เป็นอาหารสัตว์น้ำ

(6) การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาการประมงโดยเฉพาะในท้องที่ติดชายฝั่งทะเลและท้องที่ที่มีประมงเพาะเลี้ยง

(7) การพัฒนาประมงท่องเที่ยวโดยใช้ท่าเรือประมงที่เป็นของกรมประมง และการพัฒนาระบบตลาดสัตว์น้ำเพื่อสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาท่าเทียบเรือและแพปลาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากคลองระบายน้ำ เช่น กรณีหมู่บ้านประมงโตนดน้อย ตำบลหนองขนาน จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบ ความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้คำสั่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน (1.1) ความก้าวหน้าโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตการประมง และได้สนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มและขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น สมาชิกจำนวน 106,108 ราย จำนวน 2,820 องค์กร (1.2) ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง เพื่อเป็นการสร้างรายได้ จำนวน 200 ชุมชน ชุมชนละ 100,000 บาท งบประมาณ 20,000,000 บาท กระจายสู่ 50 จังหวัด เป็นพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด และ 28 พื้นที่จังหวัดแหล่งน้ำจืด (2) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้ำไทย (3) คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (4) คณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ (5) คณะทำงานโครงการ Fisherman's Village Resort และ (6) คณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาการกระจายสินค้าประมงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ