งาน วทร. 18 บทพิสูจน์ครูไทยใจเต็มร้อยกับการสอน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2008 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สสวท.
การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 18 (วทร. 18) ซึ่งจัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เพิ่งจบไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 26-28 มีนาคม 2551
ที่ผ่านมา
งานนี้มีครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศเดินทางมาร่วมกิจกรรมถึง 3,236 คน ภายในงานมีกิจกรรมการบรรยายทางวิชาการจากนักวิชาการชั้นนำของประเทศ มากกว่า 26 รายการ ซึ่งแต่ละรายการมีความหลากหลายในประเด็นสำคัญและเป็นหัวใจของการศึกษาในยุคปัจจุบันทั้งสิ้น
นับตั้งแต่วันแรกในห้องประชุมที่จัดบรรยายพิเศษ แน่นขนัดไปด้วยครูที่ใฝ่รู้เนื้อหาวิชาการและต้องการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัยเพื่อนำไปพัฒนาตนเอง หัวข้อการอภิปรายและบรรยายพิเศษมีครู
ให้ความสนใจทุกห้อง จนเต็มล้นห้อง อาทิ เรียนรู้อยู่กับภาวะโลกร้อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และ ผศ. ดร. จิรพล สินธุนาวา บอกเล่าความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับโลกร้อนที่เป็นประเด็นเร่งด่วนในสังคมอยู่ตอนนี้แบบสะกดผู้ชมได้อยู่หมัดไม่ยอมลุกไปไหน พร้อมทั้งเรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดการอภิปราย แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนกับกบนอกกะลา ซึ่งคุณดวงนภา นครสันติภาพ ผู้กำกับและพิธีกรของรายการกบนอกกะลา มาเล่าถึงการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการผลิตรายการให้ฟังแบบเต็ม ๆ การนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เรื่องนี้ก็ยังได้รับความนิยมท่วมท้น โดย คุณหญิงแพทย์หญิง
พรทิพย์ โรจนสุนันท์
การบรรยายวิชาการหัวข้อ “ก้าวไปด้วยกันให้ทันนักเรียนรุ่นใหม่” โดย รศ. ยืน ภู่วรวรรณ บอกแก่คุณครูว่า การที่คุณครูจะก้าวไปให้ทันนักเรียนรุ่นใหม่ได้นั้น ต้องเข้าใจและเรียนรู้ในตัวเด็ก โดยปัจจุบันมีแรงกดดันสู่สังคมไอที ซึ่งจะเกิดกฏระเบียบใหม่ พฤติกรรมใหม่ และแก่นความสนใจใหม่ของนักเรียน ซึ่งทำให้เกิดพลังการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เช่น มีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เด็กมีการเรียนรู้กับสื่อทางเทคโนโลยีได้ดีกว่า ทำให้ได้เรียนรู้ก่อนวัย ซึ่งเยาวชนในยุคนี้มีชีวิตอยู่ใน 2 โลกควบคู่กันคือโลกแห่งความเป็นจริง และโลกเสมือนจริง
กิจกรรมไฮไลท์ถูกใจครูที่มุ่งมาร่วมงานนี้เกือบทุกคน ก็คือ การประชุมปฏิบัติการ โดยมีครูร่วมนำเสนอผลงานเผยแพร่ จำนวนมากกว่า 200 เรื่อง มีกิจกรรมปฏิบัติการทางวิชาการ(Workshop) เกี่ยวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่า 130 เรื่อง ซึ่งทำให้ครูและบุคลากรทาง
การศึกษาได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับความรู้ที่ทันสมัย และได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆทางการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
ตามไปดูห้องประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “กิจกรรมบูรณาการลดโลกร้อนด้วยชีวิตพอเพียง” วิทยากรโดย อ. สุขวัญ พรึงลำภู และคณะ เป็นการนำเอาเนื้อหาโลกร้อนเข้ามาจัดกิจกรรมในชั้นเรียน ได้แก่ กิจกรรมการคำนวณเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องประชุมปฏิบัติการว่าใช้งานไปเท่าไหร่ภายใน 5 ชั่วโมง และคำนวณค่าไฟฟ้า
ภายในห้อง และกิจกรรมไฟฟ้าจากขยะเกษตร เป็นกิจกรรมที่ให้ครูทำนาฬิกาดิจิทัลให้ใช้งานได้จากขยะเกษตร รวมทั้งกิจกรรมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาวะโลกร้อน วิทยากรให้ความรู้เน้น ๆ อย่างเต็มที่ ทำให้ครูที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้สามารถนำความรู้ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้โดยตรงการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “สนุกและเรียนรู้กับกิจกรรมจากสารเคมีในบ้าน” วิทยากรโดย อ. สุพรรณี ชาญประเสริฐ แนะแนวทางจัดกิจกรรมเคมีให้น่าสนใจ ดูสวยงาม น่าตื่นเต้น เพื่อจูงใจให้นักเรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่ยากเลย โดยครูที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทดลองทำด้วยตัวเองโดยละเอียดครบถ้วนทุกคน และต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบกิจกรรมนี้มาก เช่น ทำโฟมอย่างง่ายจากปฏิกิริยาระหว่างกาวลาเท็กซ์ และบอแรกซ์ ปลาดิ้นได้ สายรุ้งในโหลแก้ว ศิลปะจากน้ำนม ตุ๊กตาเริงระบำ
การประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “สนุกกับใบไม้แถมได้ความรู้” วิทยากรโดย อ. พัชรดา รักยิ่ง และคณะ พาคุณครูอนุบาล ร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากใบไม้ ดูเหมือนง่าย แต่คุณครูต้องวางแผนการสอนและจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ดึงความสนใจขากความต้องการเรียนรู้ของนักเรียนออกมาใช้ประโยชน์
ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเด็กวัยอนุบาลจะได้มหัศจรรย์กับโลกของใบไม้ในแง่มุมที่พวกเขายังไม่รู้จัก จะนำไปสู่การปลูกฝังความประทับใจในวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็ก ๆ
การประชุมปฏิบัติการ เรื่อง “การใช้ใส้เดือนดินเป็นยามเฝ้าระวังสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และส่งผลทำลายสารพันธุกรรม” วิทยากรโดย ผศ. ปทุมพร เมืองเพชร พาคุณครูทำแล็ปชีววิทยา สอนเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใส้เดือนมีมวลชีวภาพมากในดิน มีบทบาทในการย่อยสลายห่วงโซ่อาหาร ไส้เดือนเป็นตัวตรวจสอบคุณภาพดินและคุณภาพน้ำได้ในภายในงานยังได้นำครูที่สนใจแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นภายในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงให้ครูและผู้สนใจในการมาร่วมกิจกรรม อีก 14 เส้นทาง ซึ่งจะทำให้ครูและผู้สนใจเห็นความหลากหลายในวิธีการการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่แตกต่างจากการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา
และที่น่าสนใจไม่แพ้การนำเสนอผลงานวิชาการแบบบรรยายคือการนำเสนอผลงานแบบนิทรรศการซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่สนุกสนาน กิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบและเป็นต้นแบบของการนำไปจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี
จากการสังเกตการณ์งาน วทร. 18 พบว่างานนี้พิสูจน์ได้ว่าคุณครูที่มาร่วมงาน ต่างก็ตั้งใจอยากจะมาด้วยตนเอง ซึ่งบางท่านสามารถเบิกจากต้นสังกัดได้ แต่บางท่านใช้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาร่วมงาน ซึ่งเมื่อได้มาร่วมงานแล้ว ต่างก็ตั้งใจเต็มร้อยในการเก็บเกี่ยวความรู้กลับไปพัฒนาการสอนในโรงเรียนของตนเอง ด้วยเสียงเรียกร้องของครูที่ร่วมงานซึ่งอยากเข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการให้มาก ๆ ทำให้เจ้าภาพขยายการเปิดให้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการ จากคนละไม่เกิน 2 รายการตลอดงาน เป็นคนละ 3 รายการแทน สำหรับวันเวลาที่ไม่ได้เข้าประชุมปฏับัติการ ครูได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงาน การบรรยาย นิทรรศการ และทัศนศึกษาแทน
คุณครูบรรพต อินทรารัตน์ สอนวิทยาศาสตร์ชั้น ป. 5 และ ป. 6 มาไกลจากโรงเรียนบ้านเมืองอาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า “ตนเองมาร่วมงานนี้เพราะต้องการพัฒนาตนเองด้านการทำสื่อการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงชื่นชอบการเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการเป็นพิเศษ โดยได้เข้าร่วมกิจกรรม Photo Story การทำภาพนิ่งเป็นมัลติมีเดีย การที่มาร่วมงาน วทร. 18 ทำให้ได้เทคนิคต่าง ๆ ไปใช้จัดการเรียนการสอนมากขึ้น เห็นแนวทางการทำวิจัยมากขึ้น”
คุณครูจิฬาภรณ์ ภูตีอัด สอนฟิสิกส์ชั้น ม. 4 — ม. 6 โรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง บอกว่า “งาน วทร. 18 ทำให้ได้ความรู้นำไปสอนนักเรียน บางเรื่องที่เราไม่รู้ลึก ก็สามารถตอบปัญหาให้เราได้ ทั้งด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนฟิสิกส์ กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดก็คือประชุมปฏิบัติการด้านฟิสิกส์ เพราะทำให้ได้นวัตกรรมเสริมสร้างจินตนาการของนักเรียน งาน วทร. 19 ซึ่งจะจัดที่ภูเก็ตในปีหน้า จะไปร่วมงานแน่นอน”
คุณครูศิราณี ธนรุ่ง สอนคณิตศาสตร์ ม. 2 และ ม. 6 โรงเรียนแหลมบัวพิทยา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บอกว่า มาร่วมงาน วทร. ครั้งนี้เป็นครั้งแรก “ชอบมากทุกกิจกรรม เพราะสิ่งที่นำเสนอน่าสนใจทั้งนั้น แต่น่าเสียดายที่กิจกรรมบางรายการนำเสนอในเวลาซ้ำกัน ต้องตัดใจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง มางานนี้ได้ประโยชน์มาก เพราะได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ทำอยู่ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูคนอื่น ๆ มาร่วมงงานนี้ช่วยให้ได้เทคนิคส้รางความสนใจให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น งานจ วทร. 18 จัด 3 วัน ได้ร่วมกิจกรรมเต็มที่ทั้ง 3 วันเลยค่ะ”
คุณครูเตือนใจ หนูแก้ว สอนทั้งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนปากพยูน จังหวัดพัทลุง นับว่าเป็นแฟนคลับตัวจริงของงาน วทร. เพราะนับตั้งแต่ร่วมงาน วทร. ครั้งแรกที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ก็ติดใจร่วมงาน วทร. เรื่อยมา 4 ปีติดต่อกันแล้ว โดยตามไปร่วมงานทั้งอุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และนครปฐม เล่าว่า
“ชอบเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ เพราะได้ประโยชน์มาก และนำไปใช้ได้จริง โดยมุ่งไปที่กิจกรรมคณิตศาสตร์ เช่น การใช้โปรแกรม GSP อนุกรม สถิติ ค่ายคณิตศาสตร์ วทร. ปีหน้าที่ภูเก็ตจะไปแน่นอน ปีหน้าอยากให้ ผู้จัดเปิดโอกาสให้ครูได้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการมากกว่า 2 รายการ เพราะมีหัวข้อที่อยากพัฒนาตนเองมากมาย ปีหน้าอยากต่อยอดความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรม GSP ในการสอนคณิตศาสตร์ช่วงชั้นที่ 3 และ 4 งาน วทร. นี้ เป็นงานที่ดีมากสำหรับตนเอง เพราะเป็นแหล่งระดมวิชาการจากผู้รู้หลายท่าน มีสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอยากค้นหา อยากค้นคว้า ได้ความรู้”
เห็นเสียงสะท้อนจากผู้ร่วมงาน วทร. 18 อย่างนี้แล้ว เป็นที่น่าชื่นชมว่าแม้ว่าระบบการศึกษาไทยอาจจะยังขัดข้องต่อการจัดการเรียนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีครูไทยจำนวนมากที่มีใจเต็มร้อย บากบั่น พากเพียร ทุ่มเทให้กับการสอนอย่างตั้งใจจริง ....ขอปรบมือดัง ๆ ต่อคุณครู แม่พิมพ์ของชาติอันทรงคุณค่าของเรา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ