เปิดชีวิตเด็กไอที ม.กรุงเทพ อาชีพอนาคตไกลที่ฮอตสุดในโลกขณะนี้

ข่าวทั่วไป Thursday December 22, 2022 14:05 —ThaiPR.net

เปิดชีวิตเด็กไอที ม.กรุงเทพ อาชีพอนาคตไกลที่ฮอตสุดในโลกขณะนี้

อาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นหนึ่งในอาชีพที่น้องๆ หลายคนให้ความสนใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นเรียนยาก คนที่เรียนได้จะต้องมีทักษะทางคอมพิวเตอร์ขั้นสูง เก่งเรื่องการคำนวณ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ราคาแพง ถึงจะเรียนและทำงานในสายนี้ได้แต่วันนี้พี่ๆ จาก สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Data Science and Cybersecurity) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะมาเล่าประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับการเรียนด้านไอทีให้น้องๆ ฟังว่า เรียนสนุก  ไม่ยาก และน่าเรียนขนาดไหน 

พีรณัฐ อุณหะนันทน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  เล่าถึงชีวิตการเรียนในสาขา  Cybersecurity ว่า "ผมมีความสนใจในการทำงานด้านโปรแกรมเมอร์ มาตั้งแต่สมัยมัธยม และก็มีโอกาสทำงานด้านโปรแกรมเมอร์มาก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ตอนแรกผมมีตัวเลือกอยู่ 2 มหาวิทยาลัย จากคำแนะนำของพี่ๆ ในวงการโปรแกรมเมอร์ แนะนำว่าลองมาเรียนที่นี่ดูมี สาขาใหม่  Cybersecurity  เป็นสาขาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลระบบป้องกัน ก็เลยหาข้อมูลดู สุดท้ายตัดสินใจเลือกที่นี่เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นที่ยอมรับในวงการ และมีเวลาที่ผมสามารถทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำ อย่างเช่น ไปร่วมโครงการของ Microsoft และ ไปแข่งขันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ Palo Alto Networks Capture The Flag, Capture the Future Competition 2022 ระดับอุดมศึกษาจากทั่วประเทศ และได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเองเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถสูงขึ้นอีกด้วย"

พอเข้ามาเรียนจริงผมคิดว่าด้วยการออกแบบหลักสูตรต่างๆ นั้นมีหลายอย่างที่ผมคิดว่าดีไม่แพ้มหาวิทยาลัยอื่นเลย อย่างบางวิชาอาจารย์ก็เอาหนังสือเล่มเดียวกันกับมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีก (Ivy League - มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมายาวนานในสหรัฐอเมริกา) มาสอน ทำให้ผมรู้สึกว่าคุณภาพวิชาการสอนของเราไม่แพ้มหาวิทยาลัยรัฐ หรือสถาบันการศึกษาอื่นเลย

สำหรับน้องๆ ที่จะเข้ามาเรียนต่อที่นี่พี่อยากจะแนะนำว่า สิ่งสำคัญนอกจากการเรียนเขียนโปรแกรม คือการหาสายหรือความถนัดของตัวเองให้พบ บางคนอาจจะมีความถนัดในเรื่องการโปรแกรมระบบ บางคนอาจจะถนัดอยากทำแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน สิ่งเหล่านี้จะค้นพบได้จากการฝึกฝนและการลงแข่งขัน สำคัญที่สุดคืออย่าไปกลัว อย่าไปคิดว่ายากเกินตัวเราทำไม่ได้หรอก คิดแบบนี้ไม่ได้ เราทุกคนสามารถเรียนรู้และค้นหาแนวทางที่ถนัดของตัวเองได้ เพียงแค่มีความกล้าที่จะลอง และเปิดใจเรียนรู้เท่านั้น"

ปภัสสิริย์ อภิไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามที่ว่าผู้หญิงจะสามารถเรียนโปรแกรมเมอร์หรือทำงานในวงการไอทีได้หรือไม่ ปภัสสิริย์ เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้าเรียนในคณะไอที มหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า 

"สนใจเรียนคณะไอที ม.กรุงเทพ เพราะเห็นข่าวผลงานของรุ่นพี่ที่คว้ารางวัลการแข่งขันหลายอย่าง เลยสนใจที่จะเข้ามาเรียนด้านการออกแบบเกม แต่คิดไปคิดมาดูแล้วตัวเราเองก็ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องเกมมากขนาดนั้น แต่เราสนใจเรื่องการเป็น Software developer หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ มากกว่า แรกๆ ก็เครียดเหมือนกันกลัวว่าเราจะเรียนไม่ได้ ต้องไปซื้อคอร์สเรียนเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมหรือเปล่า ถึงจะเรียนได้ทันเพื่อน แต่พอเรียนจริงๆ ถือว่าง่ายมาก การเขียนโปรแกรมไม่ได้ยากขนาดนั้น  ไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อนก็เรียนได้ เพราะทางสาขา  Com Science วางหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ปูพื้นฐานอย่างละเอียด ตั้งแต่เริ่มต้นจนเขียนโปรแกรมเป็น อีกอย่างพอเข้ามาเรียนได้มาเจอกลุ่มเพื่อนที่มีความชอบแบบเดียวกันก็เลยไปด้วยกันได้ สำหรับน้องๆ ที่สนใจมาเรียนพี่แนะนำว่า ถึงไม่มีพื้นฐานมาก่อนก็เข้ามาเรียนได้แน่นอน เพราะไม่ได้ยากอย่างที่คิด"

ฮาริส เกิดภักดี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กม.ปลาย สายศิลป์ ไม่สามารถเรียนต่อด้านโปรแกรมเมอร์ได้ แต่สำหรับฮาริส  คนหนึ่งที่เรียนจบม.ปลาย สายศิลป์ และกำลังไปได้ดีกับการเรียน Com Science บอกกับเราว่า 

"ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนทางด้านสายศิลป์มา ตอนแรกก็เครียดเหมือนกันครับว่าจะเรียนได้ไหม แต่พอเข้ามาเรียนในช่วงปีหนึ่งแล้ว อาจารย์สอนพื้นฐานทุกอย่างจนเขียนโปรแกรมได้ ดังนั้นใครที่เรียนด้านสายศิลป์ ไม่ต้องห่วงว่าเข้าเรียนที่นี่แล้วจะเรียนไม่ไหว ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มาก่อนหรือไม่มีมาเลย ทุกคนเริ่มต้นจากการเขียนโค้ด "Hello world" เหมือนกันหมด อีกอย่างผมว่าบรรยากาศการเรียนที่นี่ดีมาก อาจารย์เข้าถึงง่ายและช่วยสอนในจุดที่เรายังไม่เข้าใจ เพื่อนและรุ่นพี่ก็ดี ทุกคนมีความเป็นกันเอง ช่วยเหลือกันเวลาเจอจุดที่ยากก็ช่วยเหลือกัน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการใช้คณิตศาสตร์แคลคูลัส ยังจำเป็นสำหรับการเรียนเขียนโปรแกรม อาจจะไม่ได้ง่ายสำหรับเด็กสายศิลป์อย่างผม แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะเรียนรู้ครับ"  

มโนปกรณ์ คูหาเรืองรอง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกหนึ่งคนที่สนใจเรียนต่อด้าน  Cybersecurity เล่าถึงเหตุผลที่เลือกเรียนคณะไอที กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แทนมหาวิทยาลัยรัฐบาลว่า 

"ที่เลือกมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะสามารถบริหารจัดการเวลาระหว่างการเรียน และการทำกิจกรรมหรือทำงานได้ดีกว่า อีกเหตุผลก็คือ ผมไม่ชอบการเรียนในห้องอย่างเดียว แต่ผมชอบที่จะฝึกการลงมือปฏิบัติจริงๆ ในขณะที่การเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ จะให้ความรู้สึกที่ต้องไปเรียนวันจันทร์-ศุกร์ และบรรยากาศการเรียนจะค่อนข้างกดดันมากกว่า ในขณะที่การเรียนที่ ม.กรุงเทพ มีปัญหาอะไรก็สามารถยกมือถามหรือเข้าพบสอบถามอาจารย์ได้ทันที ส่วนการเรียนในสาย Cybersecurity ผมมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอีกขั้นของการเรียนเขียนโปรแกรม เพราะในเมื่อเราใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลของเรามากมายอยู่ในนั้น เราก็ควรจะต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยเข้ามาดูแล ทุกวันนี้มีการแฮกข้อมูลเว็บไซต์ เอาข้อมูลส่วนบุคคลออกมา  จึงจำเป็นที่ต้องมีคนที่คอยทำหน้าที่ปกป้องข้อมูลตรงนี้ ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสเรียนรู้จากอาจารย์และพี่ๆ ที่ทำงานในด้านนี้เข้ามาช่วยสอนด้วยเครื่องมือและประสบการณ์ตรง และก็มีบริษัทติดต่อให้ไปร่วมงานตั้งแต่เรียนปีแรกเลยครับ ผมว่าการเรียนด้านนี้สำคัญคือเราต้องฝึก และหาโอกาสแสดงความสามารถผ่านการแข่งขัน เพื่อเก็บเทคนิคพัฒนาตัวเอง และเพิ่มโอกาสการได้งานของเรามากขึ้น" 

พลาธิป จันทวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกคนหนึ่งที่สนใจด้านการเขียนโปรแกรมเล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนที่ Com Science ม.กรุงเทพ ว่า "สาเหตุที่เลือกเรียนต่อที่นี่คือเรื่องของเวลาเป็นหลัก เพราะอยากเรียนแบบมีบริหารจัดการเวลาว่างได้มากขึ้น จะได้มีเวลาไปทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำสิ่งที่ประทับใจในการเรียนที่นี่คือบรรยากาศสนุก เป็นกันเอง แล้วการเรียนในสายนี้ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด อนาคตยังไม่แน่ใจว่าจะไปต่อทางสายไหน แต่ตอนนี้สนใจเรื่องโมบาย (การเขียนแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน) เพราะเป็นเครื่องมือที่ทุกคนใช้งานมากที่สุด"  

ปิดท้ายกันที่ อิทธิพัทธ์ จิตรดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นักศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นด้านการทดสอบระบบรักษาความปลอดภัย เผยถึงสิ่งที่ได้จากการเรียนที่ม.กรุงเทพว่า "ก่อนที่จะเข้าเรียนที่ม.กรุงเทพ ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์มาก่อนอยู่แล้ว แต่ที่ผมเลือกที่จะเรียนต่อก็เพราะต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมว่ายังมีอะไรที่ผมขาดหายไป แล้วผมก็ไม่รู้สึกผิดหวังเลยที่ได้เข้ามาเรียน เพราะผมพบเทคนิคใหม่ๆ หลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนในห้องเรียน ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมการแข่งขัน และสิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีคือ การมีระบบตรรกะหรือระบบความคิดอย่างมีเหตุผลเป็นขั้นตอน ซึ่งมีส่วนสำคัญในลำดับการใช้คำสั่งในโปรแกรมให้แสดงผลอย่างที่เราต้องการ ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเรียน ผมเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ จนรู้ว่าอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ แต่พอเข้ามาเรียนรู้เรื่องระบบตรรกะการเขียนโปรแกรม ก็ทำให้รู้ว่าจะต้องเขียนโปรแกรมอย่างไรให้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมได้รับจากการเรียนที่นี่"

จากคำบอกเล่าจากพี่ๆ ที่เข้าเรียนใน  Com Science และ Cybersecurity มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  เราจะพบว่าการเรียนต่อด้านไอทีเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมได้หมด ไม่ว่าเราจะเรียนจบทางด้านสายวิทย์ หรือสายศิลป์ หรือแม้แต่เป็นโปรแกรมเมอร์ ทำงานในบริษัทตั้งแต่เรียนจบม.ปลาย มาแล้วก็ตาม การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จะช่วยเพิ่มความรู้ในการเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ มีใบปริญญาที่ช่วยรับประกันความสามารถการทำงานในวงการไอทีกับบริษัทไอทีทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเงินเดือนที่สูงขึ้น โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ดีและมั่นคงกว่าเดิม  


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ